ครม.เศรษฐกิจ เตรียมทบทวน “เอฟทีเอ” จำนวน 6 กลุ่มประเทศ พร้อมประเมินผล หลังเวียดนามชิงเซ็นกับอียู ตัดหน้าเวทีอาเซียน สั่งพาณิชย์เดินหน้าเจรจาให้เป็นไปตามแผน โดยพุ่งเป้าขยายการค้ากับออสเตรเลีย หลังมีผลไปแล้ว 3 ปี แต่ยังไม่คืบเท่าที่ควร พร้อมขยายประโยชน์จากกลุ่มอาเซียน แต่ห่วงเอฟทีเอจีน เพราะไทยขาดดุลค่อนข้างมาก โดนสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม เข้ามาตีตลาด
มีรายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) หรือ ครม.เศรษฐกิจ โดยระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าและประเมินผลการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลในทางปฏิบัติแล้ว 6 กลุ่มประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประกอบการของไทยได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงที่มีต่อกลุ่มอาเซียนมากที่สุด
นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ ครม.ได้หารือเกี่ยวกับการทบทวนแผนดำเนินการเจรจากับประเทศต่างๆ ทั้งที่ได้ลงนามไปแล้ว 12 ประเทศ และประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งได้ลงนามและบังคับใช้ไปแล้ว 3 ปี จึงมีบางสาขาที่จะต้องเจรจาเพิ่มเติม หรือการเลิกใช้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนช่วงกลางเดือนนี้ แต่ที่เป็นห่วงคือ เอฟทีเอกับประเทศจีน ซึ่งไทยขาดดุลค่อนข้างมาก เพราะมีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เข้ามาตีตลาดไทยเป็นจำนวนมาก
โดยวันนี้ ครม.เศรษฐกิจ ได้ทบทวนข้อตกลงเอฟทีเอทั้งหมด ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งประเด็นปัญหาอุปสรรค รวมไปถึงในเรื่องที่กำลังมีการเจรจากับประเทศอื่นๆ ในขณะนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้มีประเภทที่มีการเจรจา อยู่ 2-3 ประเทศ อาทิ เช่น ทางสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องการเจรจาเขตการค้าเสรีกับไทย ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ทำการศึกษาโดยเร่งด่วน เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ อียูได้ไปตกลงกับเวียดนาม เพื่อเข้าสู่ตลาดอาเซียน ทั้งที่เคยเจรจากับไทยเอาไว้ก่อน
ดังนั้น จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันว่า ควรจะทำการค้ากับประเทศที่ลงนามเอฟทีเอไปแล้ว อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการใช้กองทุนที่อยู่ในกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณกองทุนละ 500 ล้านบาท จะใช้ประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวอย่างไรบ้าง เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอรวมทั้งสิ้น 9,594 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 33% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม และมีมูลค่าการนำเข้า 2,797 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8.8% ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวม ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศคู่เจรจา มีมูลค่ารวม 64,846 ล้านบาท ลดลง 12.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจโลกและปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ยกเว้นนักลงทุนจากจีนและอินเดีย ที่ยังเดินหน้าลงทุนต่อไป
ที่ประชุมสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอผ่านกองทุนที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด