xs
xsm
sm
md
lg

9โครงการมาบตาพุดลุยต่อได้ กลุ่มปูนใหญ่-ปตท.เฮพ้นปากเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ 7 ราย 9 โครงการเดินหน้าก่อสร้างกิจการได้ต่อไปหลังลงพื้นที่และสืบพยานแล้วมีเหตุผลแถมไม่ได้กระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน กลุ่มปูนใหญ่-ปตท.เฮ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเผยเตรียมศึกษายื่นศาลฯอีก 4 โครงการที่เหลือเพื่อเดินหน้าก่อสร้างอ้างเหตุสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบแล้ว ขณะที่ 5 กิจการหลุดเหตุได้รับใบอนุญาตก่อนปี’50

นายภาณุพันธ์ ชัยรัต ตุลากรหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนร้องขอดำเนินการต่อโครงการมาบตาพุด กล่าววานนี้(24ก.พ.)ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคดีมาบตาพุด (คดีหมายเลขดำที่ 908/2552 ) ให้เจ้าของโครงการหรือกิจการ 9 โครงการ(7ราย) สามารถก่อสร้างโครงการส่วนที่เหลือต่อไปจนแล้วเสร็จติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ทดลองระบบที่เกี่ยวข้อง และทดลองเดินเครื่องจักรโดยให้ 8 หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้องติดตามตรวจสอบโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฏหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับ 7 ราย 9 โครงการส่วนใหญ่เป็นเครือปูนใหญ่ 6 กิจการ และปตท. 2 โครงการประกอบที่เหลือเป็นของกลุ่มอื่น ซึ่งประกอบด้วย 1. โครงการขยายท่าเทียบเรือขนถ่าย สารปิโตรเคมี และคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด 2.โครงการผลิตเมธิลเมตาคลีเลต โรงงานที่ 2 ของบริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด 3 โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน ของบริษัท สยามโพลิเอททีลีน จำกัด 4.โครงการผลิตโพลิเอททีลีน ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ 26 และ 43 ของบริษัท สยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด

5. โครงการผลิตเม็ด พลาสติกโพลิเอททีลีน ของบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด 6. โครงการบีสฟีนอลเอ ประเภท อุตสาหกรรม ลำดับที่ 12 และ 31 ของบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด 7. โครงการผลิตเหล็กส่วน ขยายของบริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ศาลได้ลงพื้นที่ตรวจเผชิญสืบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 22 ก.พ. จากการที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 มอบอำนาจให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คำสั่งปกครองสูงสุดการระงับกิจการเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 53 ต่อศาลปกครองกลางและไต่สวนคู่กรณีและรับมอบอำนาจโครงการข้างต้นได้ความว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯในการสั่งระงับดำเนินกิจการแต่มีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคาร ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโครงการหรือกิจกรรมต่อไปหากไม่ดำเนินการต่อจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเกินที่จะเยียวยาความเสียหายภายหลัง

เนื่องจากการก่อสร้างที่ค้างอยู่เช่น โครงสร้างเหล็กที่ติดตั้งไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่มั่นคงแข็งแรงซึ่งอาจพังลงมาได้ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิม การติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้สมบูรณ์หากมีแรงสั่นสะเทือนอาจเกิดการเคลื่อนย้ายได้ และกรณีที่ยังไม่ได้ทาสีจะเกิดสนิม ระบบดับเพลิงที่ยังติดตั้งไม่แล้วเสร็จทำให้ประสิทธิภาพป้องกันอัคคีภัยลดต่ำลง เป็นต้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวและการตรวจสถานที่ที่เป็นมูลเหตุแห่งการยื่นคำร้องเห็นว่า โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และการดำเนินการตามคำร้องที่กล่าวมาจะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนศาลอาศัยเป็นหลักในการมีคำสั่งเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อน

จ่อยื่นที่เหลืออีก4โครงการ
นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก 8 หน่วยงานที่ถูกฟ้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอผ่อนผันการระงับการก่อสร้าง13 โครงการ แต่ปรากฏว่าศาลได้ไต่สวนแล้วพบว่า 4โครงการไม่ได้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจึงไม่ตรงกับคำร้องจึงต้องถอนเรื่องออกมาจึงเหลือเพียง 9 โครงการที่ศาลฯมีคำสั่งให้ก่อสร้างต่อไป

“ 4 กิจการที่เหลือกำลังหารือกับอัยการสูงสุดเพื่อที่จะหาเหตุผลที่จะเดินหน้าก่อสร้างเนื่องจากมีการสั่งซื้อวัสดี เครื่องจักรมาแล้วหากไม่เดินหน้าต่อก็จะเกิดปัญหาโดย 4 โครงการได้แก่ 1 บริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด 2. บริษัทเอ็มทีพี เอชพี เจวี(ประเทศไทย) จำกัด 3.บ.วีนีไทย จำกัด และ 4. อมตะสตรีม ซัพพลาย “ นายสรยุทธกล่าว

5โครงการหลุดได้ใบอนุญาตก่อนปี’50
นายสรยุทธ กล่าวว่า รับรายงานจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ว่ามีโครงการที่ได้รับใบอนุญาตก่อนปี’50 จำนวน 5 โครงการ ทำให้ไม่ได้อยู่ในคำสั่งคุ้มครองของศาลฯ ทางหน่วยงานทั้ง 2 แห่งแจ้งไปยังผู้ประกอบการแล้ว คงอยู่ที่ผู้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาว่าจะดำเนินการโครงการต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้มีผู้ประกอบการใน 6 โครงการส่งหนังสือไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพื่อขอความชัดเจนว่าเป็นโครงการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากที่มีโครงการที่เข้าข่าย 10 โครงการ ซึ่งหากสผ.ยืนยันออกมาว่าไม่ต้องจัดทำอีไอเอ ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าโครงการต่อไป

เลื่อนตั้งองค์การอิสระอีก1เดือน
นายสุทธิ อัฌชาศัย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการประสานงานการจัดตั้งองค์การอิสระได้เสนอขอขยายเวลาการจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาลออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่กำนดให้จัดตั้งให้เสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการประสานงานฯ ถูกแต่งตั้งขึ้นซึ่งกำหนดให้เสร็จภายในเดือนมี.ค. 2553 เลื่อนไปจนถึงเม.ย. 2553

เนื่องจากการสื่อสารทำความเข้าใจยังไม่ทั่วถึง ประกอบกับคุณสมบัติที่กำหนดไว้ค่อนข้างสูงจึงต้องการทำการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นด้วยการส่งหนังสือเชิญตรงไปยังองค์กรต่างๆ ให้เสนอชื่อเป็นตัวแทนเข้ามา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาลที่อาจต้องเลื่อนออกไปอีก 1 เดือนจากกำหนดเดิมนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของภาคเอกชนเนื่องจากกิจการที่จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) คาดว่าจะใช้เวลานานพอสมควรซึ่งขณะนี้หลายแห่งได้เริ่มทยอยจัดทำอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น