xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำตาล"ซื้อยาก-แพง"เจ๊วาโดดแก้-หวั่นบานปลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตแล้ว! น้ำตาลส่อขาดแคลน 8 จังหวัด เริ่มหาซื้อยากแถมราคาพุ่ง “พรทิวา”ยึดอำนาจแก้น้ำตาลจากกรมการค้าภายในให้ปลัดพาณิชย์ดูแทน ขอโควตาฉุกเฉินจาก สอน. 5 แสนกระสอบไว้จัดสรรเองช่วยเหลือชาวบ้าน

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและร้านค้าปลีกว่าได้รับการจัดส่งน้ำตาลจากโรงงานผลิตลดลง รวมทั้งเพิ่มราคาขาย จนทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลไม่เพียงพอและราคาสูง จึงมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน แทนกรมการค้าภายในที่รับเรื่องในปัจจุบันเพื่อต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงรุก

“น้ำตาลทรายตึงตัวก็แปลว่าน้ำตาลเริ่มขาด ตอนนี้หลายพื้นที่หาซื้อยาก และราคาสูงขึ้น จึงต้องมีมาตรการเชิงรุกเข้าไปแก้ปัญหา จะมัวรอให้น้ำตาลทรายขาดแคลนก่อน ค่อยมาแก้ไม่ได้”

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหา จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงาน และยี่ปั๊ว กรณีมีการกักตุน และจำหน่ายน้ำตาลทรายในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่กำหนด และตรวจสอบการลักลอบการส่งออกน้ำตาลทรายไปขายต่างประเทศตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป คือ จะหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อขอกันโควตาน้ำตาลทรายฉุกเฉินมาให้กระทรวงพาณิชย์บริหารเอง เพื่อนำไปกระจายให้แก่ประชาชนให้มีใช้อย่างเพียงพอ โดยประเมินว่าเบื้องต้นจะขอโควตา 4-5 แสนกระสอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้มี 8 จังหวัดที่หาซื้อน้ำตาลทรายได้ยาก และราคาสูงเกินเพดานกำหนด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี และสุพรรณบุรี โดยบางจังหวัดมีการขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์สูงถึงกก.ละ 26-27 บาท ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาควบคุมไว้เพียง 23.50 บาท

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เริ่มพบปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน โดยผู้บริโภคได้ร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ค้าส่งว่าหาซื้อน้ำตาลทรายได้ยาก โดยได้รับน้ำตาลทรายจากโรงงานในอัตราที่น้อยลง แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดูแลโรงงานผลิต และคุมโควตาน้ำตาลทราย ก็ยืนยันว่ามีปริมาณเพียงพอ ซึ่งได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ไปตรวจสอบการจำหน่ายน้ำตาลทั่วประเทศ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดการขายเกินราคาหรือการกักตุนเกิดขึ้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น