"มาม่า" คาดปี 53 ยอดขายยังโตได้ 5% เตรียมลงทุน 500 ล้านเพื่อขยายการผลิต เล็งเจาะส่งออกตลาดบังคลาเทศ หลังตลาดในประเทศเริ่มอิ่มตัวที่ 40 ซองต่อคนต่อปี พร้อมปรับกลยุทธ์ใช้บะหมี่ถ้วยรักษายอดขายในประเทศ
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรสซิเด้นท์ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TF ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา "มาม่า" ขนมปังกรอบเวฟเฟอร์ และคุกกี้ "โฮมมี่-นิชชิน" กล่าวถึงประมาณการเติบโตของยอดขายปี 2553 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 5% หรือคิดเป็นยอดขายในปีนี้ 8 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดขายรวม 7.4 พันล้านบาท โดยมาจากการเติบโตทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
"เราเตรียมลงทุนปีนี้ 500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ทั้งชนิดคัพและชนิดซอง ขณะเดียวกันเล็งขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยปีนี้ พุ่งเป้าหมายการลงทุนย่านเอเชียใต้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมทุนในบังคลาเทศเร็วๆ นี้ ส่วนที่อินเดียยังอยู่ระหว่างเจรจา เพื่อรองรับตลาดในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณใกล้อิ่มตัว"
กรรมการผู้อำนวยการ TF กล่วว่า บริษัทได้ทำการวิเคราะห์แล้วคิดว่าตลาดในประเทศใกล้จุดอิ่มตัว ซึ่งคงต้องปรับแผนโดยเน้นการสร้างมูลค่าต่อหน่วยให้เพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขยอดขายโตได้ 1-2 เท่า นี่คือกลยุทธ์เรา เพราะเราเห็นว่าบะหมี่ถ้วย (คัพ) ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตปีละ 30% เดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา มียอดขายเยอะกว่าเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ที่มียอดขาย 3 แสนกว่าหีบ"
ปัจจุบัน การบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศอยู่ที่ระดับประมาณ 37-38 ซองต่อคนต่อปี จากระดับอิ่มตัวที่ 40 ซองต่อคนต่อปี ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรรูปชนิดคัพยังเติบโตได้อีก และยิ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็มีการบริโภคมากขึ้นด้วย จึงคาดว่าสัดส่วนการขาย "มาม่าคัพ" ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 7-8% จากปีก่อน 5% ของยอดขายรวม
ดังนั้น บริษัทจึงได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดคัพเพิ่มอีกเท่าตัว หรือประมาณ 3 แสนหีบต่อเดือน เพิ่มเป็น 6 แสนหีบต่อเดือน โดยใช้งบลงทุนเครื่องจักรใหม่ จำนวน 250 ล้านบาท คาดว่าในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2553 นี้ จะเริ่มการผลิตได้ ขณะเดียวกัน บริษัทขยายกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดซองอีก 4.4 แสนซองต่อวัน เป็น 6.52 ล้านซองต่อวัน โดยใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2553 นี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้นทุนทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแป้งสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก ทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลให้ราคาเกษตรปรับสูงขึ้น โดยราคาแป้งสาลีขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น 15% จากปีก่อน ที่มีราคาเฉลี่ย 345 บาทต่อกระสอบ (บรรจุ 22.5 กิโลกรัม) แต่บริษัทได้บริหารความเสี่ยงโดยสั่งซื้อสตอกแป้งสาลีล่วงหน้าไว้ใช้เกือบทั้งปี ในราคาใกล้เคียงกับปีก่อน
ส่วนน้ำมันปาล์มในปีนี้ ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 27-28 บาทต่อกิโลกรัม จากปีก่อนที่ 29-30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นผลจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) นอกจากนี้ก็ยังมีค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการบริหารงานเพิ่มขึ้นด้วย
"ปีนี้ผมไม่การันตีกำไรจะสูงกว่าปีก่อน เพราะแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้น ปีนี้มีด้านดีที่เศรษฐกิจดี แต่ก็มีด้านไม่ดี ที่พืชผลทางการเกษตรมีความไม่แน่นอนจากอากาศแปรปรวนทั่วโลก" นายพิพัฒ กล่าวสรุป