xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงวิกฤตหางแดงป่วน ศก.พัง "40 ส.ว." ยันสถานการณ์ขั้นแตกหัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ไตรรงค์" แนะปรับกฎหมายเพิ่มความเข้มดูแลการชุมนุม หวั่นลงทุน-ท่องเที่ยวชะงัก วอนให้หางแดงอยู่ในกรอบกฎหมาย "มาร์ค" เชื่อวางระเบิดศาล-ยิงเอ็ม 79 ถล่มกลางเมือง ไม่ใช่ฝีมือประชาชนทั่วไปแน่ ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.ออกโรงเตือนรัฐบาล ต้องเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยแบบเข้มข้น พร้อมแฉ "อดีตผู้พิพากษา-ไอ้กี้" ปั่นหางแดงยึดรัฐสภา-เตรียมน้ำมันล้านขวดเผาเมือง พร้อมประเมินสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากนี้

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีแนวโน้มความรุนแรงในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากนี้ โดยรู้สึกกังวลกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักลง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และการลงทุน พร้อมแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายดูแลการชุมนุมให้เข้มงวด


"เรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว เพราะเป็นเรื่องแปลกที่เหตุการณ์เกิดขึ้นกับสถานที่ราชการ ซึ่งนักลงทุน คงไม่เข้าใจปัญหาดังกล่าว ถึงแม้ในต่างประเทศ จะมีการชุมนุมทางการเมือง แต่ก็ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนกับประเทศไทย โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตนาของผู้ที่กระทำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่า เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่อออกมาชุมนุม ทางการเมืองหรือไม่ โดยต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สิ่งที่ รัฐบาลทำได้ขณะนี้ คือ การขอโทษกับนักลงทุน"

รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้กฏหมายของไทยยังอ่อนแอและไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ในอนาคตควรจะมีการปรับปรุงการบังคับใช้กฏหมายเหล่านี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดหากผู้ชุมนุมทำผิดกฏหมาย เหมือนในต่างประเทศที่มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด เช่น ห้ามชุมนุมในเวลากลางคืน และการชุมนุมบนท้องถนน เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงอยากขอให้การชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย อย่าให้เกิดความรุนแรง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการลงทุน และการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลวางไว้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นายไตรรงค์ กล่าวอีกว่า ตนเองได้ชี้แจงกับทูตต่างชาติหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์ชุมนุมในทางการเมือง

รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ยังกล่าวถึง กรณีที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ออกมาระบุว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุน ในนามคณะ 11 โดยบอกว่า ตนยังเชื่อมั่นในตัว พล.อ.เปรม และที่ผ่านมา ท่านวางตัวดีมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนในช่วงเดือนเมษายน 2552 และเหตุการณ์ล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์วางระเบิดซีโฟร์น้ำหนัก 3 กิโลกรัม ที่ซุกไว้บริเวณประตูรั้วหน้าศาลฎีกา และการลอบยิง M79 ไปตกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ซึ่งใกล้กับกองบัญชาการทำเนียบรัฐบาลนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนทั่วไปที่จะสามารถทำได้ ส่วนจะเป็นคนมีสีนอกแถวหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการติดตามสถานการณ์

"อาวุธประเภทแบบนี้ เอาเป็นว่าคนธรรมดาไม่น่าจะมีได้ ก็ต้องติดตามต่อไป เอาเป็นว่า อาวุธร้ายแรงแบบนี้ คนธรรมดาคงหรอกครับ"

ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้กฎหมายด้านความมั่นคงเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อดูแลสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาตามสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยระบุถึง 2 เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะชะล่าใจไม่ได้ และจะอยู่เฉยๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้ว เพราะเอ็ม 79 มุ่งหมายที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า ก่อนหน้านี้ มีอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฏีกาคนหนึ่งขึ้นเวทีเสื้อแดง โดยกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าใช้คำว่า เห็นผู้นำรัฐบาลฆ่ามันเลย ได้ไม้เอาไม้ ได้มีดเอามีด ได้เหล็กเอาเหล็ก ได้ปืนเอาปืน ได้ระเบิดเอาระเบิด ไม่ผิด อาจารย์ใหญ่เป็นผู้พิพากษาศาลฏีกาศึกษามาแล้วทุกแง่มุมไม่ผิด นี่คือตัวชี้ว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแน่

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวเสริมว่า ตนเองได้วิเคราะห์ข่าวที่มีผู้เตรียมการชุมนุมในเดือนนี้กระจายในกรุงเทพฯ 4-5 จุด หรืออาจมากถึง 7 จุด ในต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 8 จุด โดยจุดที่เป็นเป้าหมายจุดหนึ่งคือบริเวณรัฐสภา ซึ่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในบรรดาสถานที่อันตราย รัฐสภาเป็นสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสถานที่ราชการอื่นๆ

นอกเหนือจากสถานการณ์การชุมนุมที่น่าเป็นห่วงแล้ว เชื่อว่า ยังจะมีการสร้างสถานการณ์ที่จะเป็นการเติมเชื้อให้การชุมนุม เป็นต้นว่าการเผาสถานที่สำคัญ การยิงระเบิด การวางระเบิด เป็นต้น ดังนั้น ตนเองจึงขอฝากไปยังประธานรัฐสภาให้กำชับการรักษาความปลอดภัยรัฐสภาควรมีการเตรียมแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันที่วุฒิสภามีการประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 รวมถึงวันที่ 1-3 มีนาคม 2553 อีกด้วย

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยรัฐสภาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากรัฐสภาทำงานไม่ได้จะทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทำงานไม่ได้ เชื่อว่าจะมีการใช้กำลังประมาณ 1 หมื่นคนในการยึดรัฐสภา

"กรณีนี้ ประธานวุฒิสภา ควรหารือประธานรัฐสภาว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยจะทำอย่างไร หากรัฐสภาถูกยึดโดยประชาชนเข้ามาในสภา เอกสารการประชุมจะดูแลอย่างไร ผมแปลกใจที่มีเหตุการณ์ยิงเอ็ม 79 มีการวางระเบิดซีโฟ 3 ปอนด์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุต้องการก่อเหตุแน่นอน"

ดังนั้น รัฐบาลควรต้องใช้การข่าวตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งการโอนเงินจากบ่อนที่ปอยเปต โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสัมปทานโรงไฟฟ้าที่เกาะกง รัฐบาลจึงควรไปตรวจสอบ ทั้งนี้ แกนนำโดยเฉพาะนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง (กี้) ที่ปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมนำน้ำมันล้านขวดเข้ามาในกรุงเทพฯ และให้ติดตามที่อยู่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ตนเองไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้ทำไมจึงมีการถอนประกันตัว ตนเองเข้าใจว่าทางตำรวจพัทยาได้ดำเนินการแล้วแต่ไปติดขึ้นตอนของอัยการ

"เรื่องนี้ ต้องควบคุมความรุนแรงก่อนโดยการถอนประกัน กรณีของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ที่เป็นผู้ปลุกปั่นและทำให้เกิดความรุนแรงทุกครั้ง จากการติดตามทราบว่าคดีของพลตรีขัตติยะยังไม่ถึงศาลทหาร คำสั่งพักราชการพลตรีขัตติยะ รัฐมนตรีกลาโหมก็ไม่ยอมลงนามคำสั่งถึงสองครั้ง ล่าสุดเพิ่งจะลงนาม ทำไมเรื่องเหล่านี้ยังช้าอยู่ยังไม่ไปถึงศาลทหาร"

ส่วน พล.อ.อ.วีระวิทย์ คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐบาลสามารถควบคุมกระบวนการที่จะนำวัตถุระเบิดเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ตลอดเวลา โดยตรวจสอบและเข้มงวดการตรวจอาวุธ ต้องเอาจริงกับการควบคุมอาวุธสงคราม โดยดูแลหน่วยทหารอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการนำอาวุธสงครามเข้ามาในกรุงเทพฯ และหากไม่จำเป็นไม่ควรมีการฝึกในช่วงนี้ ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลไม่เข้มงวดในการควบคุมอาวุธสงครามหากเกิดเหตุการณ์การขึ้นจะเกิดความเสียหายอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น