นายกฯ เผยข่าวดี ศก.ไทยเริ่มเดินได้เอง รัฐบาลเตรียมลดขนาดยาโด๊ปปลุก ศก. เตรียมรอดูข้อมูลตัวเลขบ่งชี้ อีกครั้ง เพื่อให้วางใจ พร้อมยกตัวอย่าง "สหรัฐฯ-จีน" สะท้อนความไม่สมดุล ศก.โลก ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการเพิ่ม-ลดยางโด๊ปของแต่ละประเทศ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับเพิ่มประมาณการ "จีดีพี" ในปี 53 โตได้ 3-4% พร้อมระบุ เกษตร-ส่งออก-ท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อีกระยะหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้นจากที่เคยคาดไว้ หากข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่าสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว
"เราจะแสวงหาจังหวะเหมาะสมในการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่อย่างไร จะขอรอดูตัวชี้วัดซักระยะหนึ่ง มีความเป็นไปได้จะมีการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้ exit plan เร็วขึ้น ซึ่งได้พุดคุยกันบ้างแล้วกับผู้กำหนดนโยบาย"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เกินเป้าหมาย 2 แสนล้านบาท จะนำไปสู่การปรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลคงจะไม่ดำเนินการเร็วจนเกินไป เพราะจะต้องมีการประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย
ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ การที่สหรัฐอเมริกาประกาศงบประมาณประจำปี 2554 ในระดับ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเน้นการสร้างงานเป็นหลัก และการที่ประเทศจีนออกมาตรการเข้มงวด เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจโลก
"การที่สหรัฐฯ ได้กำหนดการขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์นั้น แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มองถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ซึ่งแต่ละประเทศ ก็ต้องตอบสนองการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเอง ส่วนจะทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ เกิดความสมดุลกันนั้นก็มีเวที G20 ให้ประสานได้อยู่แล้ว"
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยระบุว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนกาสรไหลออกของเงิน ก็คงจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป
ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.0-4.0 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งล่าสุด หน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศชั้นนำ ไม่ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ธนาคารโลก และสถาบันชั้นนำของเอกชน ก็ได้ปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.9 (ณ วันที่ 26 มกราคม 2553) จากประมาณการเมื่อเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่ธนาคารโลกปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.7 (ณ วันที่ 21 มกราคม 2553) จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.0
ขณะที่รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่สูงกว่าประมาณการ ทำให้รัฐบาลประเมินว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2553 อาจจะสูงขึ้นเป็น 1.52 ล้านล้านบาท สูงขึ้นประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากกรอบรายรับตามงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจในอนาคตได้มากขึ้น
นอกจากนี้ อุปทานพืชผลทางการเกษตรทั่วโลกที่ลดลงจะหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น โดยผลผลิตการเกษตรหลักของโลกหลายชนิดได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้พืชผลทางการเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง
ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะช่วยกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตและการจ้างงาน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นจะเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนภาคเกษตร ผลดังกล่าวเมื่อบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล จะนำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ให้ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามมา
สำหรับความเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 53 นี้ ปัจจัยที่มีน้ำหนักสำคัญที่สุดในขณะนี้อยู่ที่ปัจจัยภายในประเทศของไทยเอง โดยเฉพาะในไตรมาส 1/2553 เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันหลายด้าน อันดับแรกคือ ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล รองลงมาคือข้อห่วงใยเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด
โดยทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป โดยประเด็นที่เป็นที่จับตาในขณะนี้ คือ มาตรการของทางการจีนที่ออกมาเป็นลำดับตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่มุ่งชะลอการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ โดยมาตรการดังกล่าวอาจลดทอนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2553 จากระดับที่ IMF คาดว่าจะเติบโตได้กว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของประเทศในแถบเอเชียที่หลายประเทศมีการพึ่งพาตลาดจีนสูงขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้มาตรการของทางการจีนอาจชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง แต่จีนน่าจะยังคงเติบโตได้ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 ไว้ที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.0 สำหรับภูมิภาคยุโรปยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ที่อยู่ระดับสูงในบางประเทศ เช่น กรีซและสเปน ขณะที่อัตราการว่างงานของกลุ่มยูโรโซนโดยรวมยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ปัญหาการว่างงานซึ่งอาจลดลงอย่างเชื่องช้านั้น จะเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงที่นอกเหนือความคาดหมายใดๆ จีดีพีในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 น่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัว (YoY) ที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.5 ขณะที่ในไตรมาสถัดๆ ไปตัวเลขจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จะมีผลของฐานเปรียบเทียบที่อาจทำให้เป็นตัวเลขที่ไม่สูงดังเช่นไตรมาสแรก แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์น่าจะมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งน่าจะเร่งตัวเร็วขึ้น รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนบางสายน่าจะมีการก่อสร้างคืบหน้าและทยอยเปิดประมูลสายใหม่ๆ ได้
นอกจากนี้ ทางออกสำหรับโครงการลงทุนในมาบตาพุดน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น และหากบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองผ่อนคลายลง ก็น่าปูทางไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรงขึ้นในระยะต่อไป