ภาคเอกชนห่วงโครงการ "อีโคคาร์" สะดุด หลังภาษีรถไฮบริดถูกเบรกกลาง ครม. ขณะที่ รมว.พลังงาน แนะให้ทำมาตรการภาษีเป็นแพ็กเกจ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมชี้จุดอ่อนจุดแข็งเทคโนโลยีไฮบริดจ์ ของกระทรวงการคลัง และน้ำมัน E85 ของกระทรวงพลังงาน
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์กล่าวว่า ปีนี้สถาบันฯ ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ในภาพรวมไว้ที่ 1.4 ล้านคัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 630,000 คัน ส่งออก 770,000 คัน โดยในเดือนมีนาคม 2553 นี้ ค่ายนิสสันจะเปิดขายอีโคคาร์เป็นเจ้าแรก โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 คัน ขณะที่รายอื่นๆ ที่เหลืออีก 5 ราย จะทยอยเปิดตัวรถยนต์ในช่วงต่อไป
สำหรับยอดผลิตอีโคคาร์ทั้งหมด 6 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาต อยู่ที่ 700,000 คัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี จึงจะได้ตามเป้าหมายดังกล่าว โดยหากอีโคคาร์ประสบความสำเร็จ จะทำให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยไปถึง 2 ล้านคัน ภายใน 3-4 ปี ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สถาบันฯ ไม่ต้องการให้โครงการอีโคคาร์ต้องสะดุดลง เพราะประเทศไทยยังไม่มีโครงการผลิตรถอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ และเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ
"ผมมีความเป็นห่วงและไม่อยากให้การส่งเสริมรถประหยัดพลังงานเช่น อีโคคาร์ ต้องสะดุด เพราะขณะนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้มีการพิจารณามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการผลิต และการใช้รถยนต์นั่งประหยัดพลังงาน ประเภทพลังงานผสมชนิดพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า หรือไฮบริด แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากรัฐมนตรีพลังงานเห็นว่า ควรพิจารณารวมกับรถประเภทอื่นไปพร้อมกัน เช่น อีโคคาร์ เป็นต้น"
ซึ่งสถาบันฯ พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และทั้ง 3 กระทรวงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง เพื่อให้การพิจารณามาตรการภาษีส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน สามารถศึกษาแล้วเสร็จทั้งระบบ ก่อนนำเสนอเข้า ครม. ภายในเดือนนี้
“หากนโยบายส่งเสริมรถไฮบริดที่ขณะนี้โตโยต้าลงทุนอยู่เกิดการสะดุด ก็จะทำให้ค่ายรถยนต์อื่นที่สนใจผลิตรถไฮบริดต้องชะลอการลงทุนออกไป สำหรับเทคโนโลยีไฮบริดเหมาะสมที่จะลงทุนกับรถที่ผลิตในประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปรวมได้ แต่ไม่เหมาะกับรถที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย ค่ายโตโยต้าจึงได้ลงทุนเทคโนโลยีไฮบริดในรถรุ่นคัมรี่ และตั้งเป้าขายในประเทศไทยไว้ปีละ 9,000 คัน ขณะที่ค่ายอื่นๆ เช่น ฮอนด้า ก็มีเทคโนโลยีไฮบริดจ์เช่นกัน และสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ โดยนำมาใส่ในรถยนต์รุ่นซีวิคและแอคคอร์ดได้ ส่วนเบนซ์ก็มีเทคโนโลยีไฮบริด แต่เป็นรุ่น เอส 500 ซึ่งไม่มีการผลิตในประเทศไทย ขณะที่ฟอร์ดมีเทคโนโลยีไฮบริดในรุ่นเอสเคป แต่ก็ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไฮบริดถือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถในเมือง เพราะสามารถประหยัดพลังงานได้ สำหรับรถที่ใช้น้ำมัน E85 ปัจจุบันมีค่ายมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ผลิตจำหน่ายในประเทศแล้ว แต่มีจำนวนน้อยมาก ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ผลักดันเรื่องนี้อยู่ ขณะที่ค่ายวอลโว่ก็มีรถ E85 เช่นกัน ในรุ่น S 80 แต่ในภาพรวมแล้วรถ E 85 ยังมีไม่มากนัก