xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดันเงินเฟ้อปี 53 พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาสินค้าโภคภัณฑ์-น้ำมัน พุ่งในอัตราเร่ง ดันเงินเฟ้อปี 53 เพิ่ม 3.0-4.0% พร้อมแจงปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ เกิดจากแรงผลักราคาสินค้าภาคเกษตรที่ปรับตัวพุ่งขึ้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานเศรษฐกิจไทยปี 2553 โดยมองว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 จะมีแรงกดดันเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ตามภาวะผลผลิตในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลกที่ลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง หลังจากที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า

แต่จากการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลา 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2552 มีส่วนช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อลงได้ค่อนข้างมาก จึงทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 อาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 จากที่ติดลบร้อยละ 0.8 ในปี 2552

โดยในกรณีที่รัฐบาลไม่ขยายระยะเวลา 5 มาตรการ เมื่อครบกำหนด 3 เดือนในเดือนมีนาคม 2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.4-4.0 แต่หากรัฐบาลขยายมาตรการออกไปอีก 3 เดือน ไปสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2-3.8

ส่วนกรณีที่รัฐบาลขยายมาตรการออกไปสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0-3.5 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในปี 2552

สำหรับนัยต่อนโยบายการเงิน มองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปแตะระดับประมาณร้อยละ 4 (YoY) ในเดือนมกราคม 2553 จากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน (Base Effect) เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังคงมีระดับไม่เกินร้อยละ 0.5 (YoY) และจะยังมีค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.5 (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งยังไม่สูงไปกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 มากนัก จึงน่าจะยังคงเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) มีความยืดหยุ่นพอสมควรในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2553

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2552 เร่งตัวขึ้นมาที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงนี้ เป็นผลทางเทคนิคในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในเดือนธันวาคมปี 2551

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาสินค้าเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปของเดือนธันวาคมมีระดับลดลงจากเดือนพฤศจิกายน (Month-on-Month)

นอกจากนี้ เมื่อมองจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นเครื่องชี้ระดับราคาสินค้าที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ก็มีระดับไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เดือนตุลาคม (อยู่ที่ระดับ 102.7) ซึ่งสะท้อนได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ โดยภาพรวม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 โดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.9 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่ำกว่าปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4
กำลังโหลดความคิดเห็น