พาณิชย์ เผย ดัชนีเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ขยายตัวถึง 8.9% ตามคาด ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.6% ชี้ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 94.58% เป็นตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อที่มีนัยสำคัญ ระบุ เป็นสถิติสูงสุดรอบ 10 ปี
วันนี้ (1 ก.ค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.2551 อยู่ที่ระดับ 127.7 เพิ่มขึ้น 8.9% จากเดือน มิ.ย.2550 และเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน พ.ค.51 โดย CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกปี 51 ขยายตัว 6.3% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่มิ.ย.41 ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 9.7%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มิ.ย.51 อยู่ที่ระดับ 109.3 เพิ่มขึ้น 3.6% จากเดือน มิ.ย.50 และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2551 โดย Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 2.2%
นางไพเราะ สุดสว่าง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าว โดยระบุถึง สาเหตุที่การขยายตัวของดัชนี CPI ในเดือน มิ.ย.2551 สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับ 7.6% สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ 30 มิ.ย.2551 อยู่ที่ 136.30 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อเทียบกับ 65.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ณ 30 มิ.ย.2550 คิดเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้น 94.58%
“ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งในเดือน มิ.ย.ปีนี้ สูงขึ้นจากเดือน มิ.ย.50 ถึง 94.58% ซึ่งเกินตัวเลขประมาณการที่ตั้งไว้”
ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2551 ที่กระทรวงพาณิชย์เคยให้กรอบไว้ไม่เกิน 5.5% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ที่ 103 ดอลลาร์/บาร์เรล ไม่เกินไปกว่าสมมติฐานเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยไม่เกิน 105 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่หากในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเป็นไปตามสมมติฐานด้านเลวร้ายสุดที่ 140 ดอลลาร์/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2551 ปรับขึ้นไปที่ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็จะทำให้เงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 7-8% ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดไว้
นางไพเราะ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ CPI ในเดือน มิ.ย.2551 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 1.2% เป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก เป็นผลจากการลดลงของราคาอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่และผักสด ขณะที่สินค้า่หมวดอื่นที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นตามความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับสูง ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะหลายประเภทมีราคาสูงขึ้นแม้ค่าไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงตามค่า Ft ก็ตาม
แต่หากเทียบ CPI ใน มิ.ย.2551 ที่สูงขึ้นจาก มิ.ย.2550 ถึง 8.9% ถือว่าเป็นอัตราที่สูงขึ้นมาก ปัจจัยสำคัญมาจาการการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิง 44.7% ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 11.4% ขณะที่หมวดอื่นๆที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 7.2% โดยปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
นางไพเราะ กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 8.9% ถ้าเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่ 5.5% ถือว่ายังสามารถรับได้ แต่ทั้งนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน แต่เชื่อว่าการที่รัฐบาลมีการปรับเงินเดือนและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะพอช่วยบรรเทาความรู้สึกลงได้
“ในระดับเศรษฐกิจที่ 5.5% คิดว่อัตราเงินเฟ้อที่ 8.9% ในแง่หลักวิชาการยังพอรับได้ แต่ในความรู้สึกของประชาชนจากที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจหนัก ต้องรอเวลาสักพักแล้วค่อยดูว่าจะไหวหรือไม่ แต่ที่ไม่ไหว คือ เรื่องราคาน้ำมัน” นางไพเราะ กล่าวสรุปทิ้งท้าย