เครือข่ายภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ แก้ปัญหาปากท้อง ดูแลราคาสินค้า ปรับค่าจ้างแรงงาน พร้อมเตรียมชุมนุมใหญ่ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า 24 มิ.ย.นี้
วันนี้ (15 มิ.ย.) นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานสภาประชาชน เปิดเผยถึงแถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชนฉบับที่ 2 โดยระบุว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่ประกอบด้วยผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และคนจนเมือง จะไม่ยอมทนต่อปรากฏการณ์ข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นอีกต่อไป
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ด้าน ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการ ต้องแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้าให้เป็นธรรม กระจายสินค้าราคาถูกให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง , หมวดผลิตผลทางการเกษตร ต้องควบคุมปัจจัยการผลิตและรับประกันราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร
หมวดค่าจ้างต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งในระบบและนอกระบบ ให้สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขที่เหมาะสมคือ 316 บาท และต้องเท่ากันทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลให้แรงงานนอกระบบรับค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยสวัสดิการต่างๆ ควรได้รับเท่าเทียมกันกับแรงงานในระบบ
นางสาววิไลวรรณ กล่าวอีกว่า เครือข่ายภาคประชาชน ยังมีมติไม่เห็นด้วยกับมาตรการแจกบัตรเติมเงินให้กับคนยากจน แต่รัฐควรนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันให้ลดลง นอกจากนี้ยังคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และขอให้รัฐซื้อคืน ปตท.เพื่อแก้วิกฤตราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะนัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมระบุว่าหากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยเหมือนที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนอาจตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชน ฉบับที่ 2
ชุมนุมใหญ่วันที่ 24 มิถุนายน 2551
หยุด!!! น้ำมันแพง หยุด!!! สินค้าราคาแพง
ประกันราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ค่าแรงต้องสมดุลค่าครองชีพ
วันที่ 15 มิถุนายน 2551
พวกเราประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนจนเมือง ในฐานะปัจเจกชนและองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรคนจนเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 40 องค์กร ขอประกาศ ณ สภาประชาชนแห่งนี้ว่า เราจะไม่ยอมทนต่อปรากฏการณ์ “ข้าวยากหมากแพง” อีกต่อไป
ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง เป็นความไม่มั่นคงของชีวิตที่เลวร้ายลงทั่วโลก เป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างฝ่ายบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลนายทุนธุรกิจการเมืองที่ร่ำรวย กับพลเมืองโลกในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการบริโภคอุปโภค การยังชีพขั้นพื้นฐาน
กล่าวสำหรับประเทศไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาล ก๊าซหุงต้มมีราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ราคาน้ำมันแพงขึ้น ค่ารถโดยสารเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานปรับขึ้นเพียง 2-11 บาท ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำและผันผวน เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว
ปรากฏการณ์ “ข้าวยากหมากแพง” ไม่สามารถแก้ไขด้วยการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดดังที่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ เพราะหากกลไกตลาดสามารถนำพาซึ่งความเป็นธรรมได้ เราคงไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันที่สูงเช่นนี้ ดังนั้นรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชจะต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม มีกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่เป็นเพียงการสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกรรายย่อย คนจนเมือง มีข้อเรียกร้องเชิงหลักการต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
1. รัฐต้องแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เป็นธรรม
2. กำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยราคาที่เป็นธรรม
3. จัดทำสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกและจัดคาราวานสินค้าราคาถูกแก่ประชาชน เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา
4. การกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกให้เพิ่มช่องทางผ่านองค์กรประชาชน สหภาพแรงงาน สหกรณ์ ร้านค้ากลุ่มองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรประชาชน โดยมีสำนักงานประสานงานเบื้องต้นที่ สำนักงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จตุจักร กรุงเทพฯ และสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
5. สนับสนุนการซื้อขายตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
หมวดสินค้าผลผลิตทางการเกษตร
1. ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร ค่าเช่านา ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ส่งเสริมปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย อาทิ น้ำมันเพื่อการเกษตร
2. ประกันราคารับซื้อข้าวเปลือกและผลผลิตการเกษตรทุกชนิด ด้วยราคาที่เป็นธรรมกับผู้ผลิต
3. สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ ทำการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
หมวดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม
1. รัฐจะต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
2. ค่าแรงขั้นต่ำ 316 บาท ควรมีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ
3. รัฐจะต้องมีมาตรการดูแลให้แรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ในหลักการพื้นฐาน ค่าแรงของแรงงานนอกระบบก็ควรได้รับเท่ากับแรงงานในโรงงาน
หมวดสวัสดิการสังคม
1. การประกันสุขภาพของคนจนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับผู้ใช้บริการรักษาพยาบาลปกติ
2. ค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งมวลชนต้องอยู่ในอัตราที่คนจนมีกำลังจ่ายได้
3. ประชาชนต้องมีสิทธิเรียนฟรีทุกระดับชั้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด
หมวดนโยบายรัฐบาล
1. ไม่เห็นด้วยกับคูปองคนจน รัฐควรใช้งบประมาณอุดหนุนค่าน้ำมันให้ลดลง เพราะเป็นกลไกที่ทำให้ราคาสินค้า และบริการสาธารณะปรับลดลงได้
2. การแก้ไขวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ดีที่สุดก็คือ การซื้อ ปตท. คืนมา
3. คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และต้องมีการปฏิรูปกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ต้องไม่เป็นกลไกของนักการเมือง โดยองค์ประกอบต้องมีตัวแทนนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชน
เราขอเชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 24 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 76 ปี