xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์”รับห่วงเปิดเสรีอาฟตา ตั้งทีทีอาร์ติดตามผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์”ยอมรับเป็นห่วงเปิดเสรีอาฟตา เพราะจะมีทั้งคนได้และเสีย เผยครม.ได้ตั้งทีทีอาร์ติดตามปัญหาแล้ว ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมีกองทุนเข้าไปเยียวยาทั้งของเกษตรและพาณิชย์ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ระบุไทยยังไม่พร้อม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานเสวนา “เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา): ไทยพร้อมหรือยัง” ว่า การลดภาษีสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่จะมีการลดภาษี 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 ยอมรับว่ามีความเป็นห่วง เพราะการเปิดเสรีการค้ามีทั้งได้และเสีย ซึ่งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลได้มีกลไกช่วยเหลือแล้ว เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เป็นกลไกในการติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังมีกองทุนทั้งส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ในส่วนของการเปิดเสรีสินค้าเกษตร มั่นใจว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการได้ โดยมีมาตรการในการบริหารการนำเข้าทั้งการกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การกำหนดมาตรฐานสินค้า และการดูแลไม่ให้พืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การเปิดเสรีภาพรวมไทยเข่งขันได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไทยมีความจำเป็นต้องเปิดเสรีการค้าอาเซียน เพราะโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยคู่ค้าที่ไทยมีอยู่ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจข้างหน้าจะเติบโตแบบชะลอตัวลง ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอาเซียนจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

“ในส่วนของไทยมองว่ามีความพร้อมต่อการเปิดตลาดครั้งนี้ เพราะการค้าระหว่างไทย-อาเซียน แต่ละปีไทยได้ดุลการค้ามากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าระบบการค้าเสรีขึ้นกับการปรับตัวของภาคเอกชนด้วย ที่ต้องให้ความสำคัญการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สร้างกฎกติกา เพื่อเอื้อต่อการปรับตัวได้ง่าย”นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า แม้จะมีการทยอยลดภาษีสินค้าอาฟตามาแล้วถึง 17 ปี แต่ไทยยังไม่มีความพร้อม เห็นได้จากคนไทยยังไม่รู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของเออีซี และเพิ่งจะมาตื่นตัวไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามสร้างภาพว่ามีการเตรียมความพร้อม มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะการเยียวยาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิจัย แต่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีการปฎิบัติจริง อย่างไรก็ตามได้เสนอนายกรัฐมนตรีตั้งสำนักงานถาวรขึ้นมาดูแลกรอบการเจรจาการค้าเสรีทั้งหมด เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและดูแลผลกระทบ

นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไทยต้องใช้เงินมากถึง 700 ล้านบาท ในการศึกษาผลกระทบการเปิดเสรีการค้า แต่ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายการเยียวยา เพราะการให้เงินชดเชยไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ แต่ต้องสร้างสังคมใหม่ มีระบบรองรับการแข่งขัน ส่วนในด้านความพร้อม ไทยมีความพร้อมระดับหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ควรทำคือมียุทธศาสตร์การค้าเป็นรายสินค้าให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์แข่งขันได้เต็มที่

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นห่วงเรื่องการกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปของมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างกำหนดขึ้นมา และอาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเนื่องจากประเทศในอาเซียนผลิตสินค้าคล้ายกัน ทำให้ในที่สุดผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีจะเป็นกลุ่มนักลงทุนชาติอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ดังนั้น ไทยและอาเซียนควรมีการปรับมาตรการทางการค้าให้มีทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเปิดเสรีให้ได้มากที่สุด

นายสมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการ กล่าวว่า ถ้าอยากให้ไทยได้ประโยชน์จากอาฟตา จะต้องมีการปรับตัวใน 5 เรื่องหลัก คือ การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดการบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เช่น การแทรกแซงราคาข้าวที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่า 10% เป็นการจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาในไทย ที่สำคัญไทยต้องลดความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น