xs
xsm
sm
md
lg

ชี้โรงกลั่นน้ำมันซบยาว ไทยออยล์เบนเข็มลุยปิโตรเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยออยล์ตั้งเป้าปีหน้าค่ากลั่นรวมเฉลี่ย (GIM)สูงกว่า 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดีกว่าปีนี้ โดยชูธุรกิจอะโรเมติกส์เป็นพระเอกสร้างผลกำไรให้ ขณะที่ค่าการกลั่นน้ำมัน (GRM)ค่อนข้างต่ำ เผยเตรียมศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีขั้นปลายแทนการขยายการกลั่น หลังมองธุรกิจโรงกลั่นยังไม่ดีอีก 3-4ปีข้างหน้า

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทฯตั้งเป้าค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย(GIM)จะสูงกว่า 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (รวมกำไรจากสต็อกน้ำมัน) สูงขึ้นกว่าปีนี้ ขณะที่มีค่าการกลั่นน้ำมัน (GRM) 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยธุรกิจอะโรเมติกส์ของบริษัทในเครือจะเป็นตัวที่มีบทบาทและสร้างผลกำไรที่โดดเด่นให้กับไทยออยล์ในปีหน้า เนื่องจากค่าGRM ไม่ค่อยดี เป็นผลสืบเนื่องจากกำลังการกลั่นน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเกินความต้องการใช้ ส่งผลให้โรงกลั่นที่ไม่มีประสิทธิภาพในสหรัฐฯและจีนได้ทยอยปิดตัวลงไปแล้ว

สำหรับไตรมาส 4/2552 ค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย(GIM)ของไทยออยล์ อยู่ที่ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทั้งปีคาดว่า GIM น่าจะอยู่ที่ระดับ 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมี GRMอยู่ที่ 2-3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยครึ่งปีแรกมีGRM ค่อนข้างดี แต่ครึ่งปีหลังปรับลดลงมาก แต่ได้กำไรจากธุรกิจอะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นเข้ามาเสริมทำให้ผลการดำเนินงานไทยออยล์ในปีนี้ดีอยู่

“ ปีหน้าเราคิดว่าGRMไม่ต่ำกว่า 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ตัวแปรขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน และมองว่าปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่มีการเก็บสต็อกไว้ในเรือน่าจะหมดในครึ่งปีแรก หลังจากนั้นดีมานด์น้ำมันจะกลับมา “

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปีนี้ที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 75-80 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ราคาน้ำมันจะไม่ผันผวนมากเหมือนในอดีต โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

นายสุรงค์ ได้กล่าวในงานเสวนา CEO Forum หัวข้อเรื่อง Fighting for Tomorrow’s Challenges ที่ไทยออยล์ได้จัดร่วมกับกรุงเทพธุรกิจวานนี้ (14 ธ.ค.)ว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะเป็นEnergy Converting Company แทนที่จะเน้นการกลั่นน้ำมันอย่างเดียว หากความต้องการใช้พลังงานของโลกเปลี่ยนไปอย่างไร บริษัทฯก็จะปรับทิศทางการทำธุรกิจให้สอดคล้อง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอีก 30-40 ปีข้างหน้า โลกก็ยังมีความต้องการใช้น้ำมันอยู่ เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันในโลกยังมีอยู่มาก แต่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมทำให้มีการใช้พลังงานอื่นเข้ามาด้วย เช่นไฮโดรเจน ซึ่งก็เริ่มมีให้เห็นแล้ว

ปัจจุบันไทยออยล์มีการทำธุรกิจไปในเชิงลึกมากขึ้น โดยมีธุรกิจทั้งโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี น้ำมันหล่อลื่น โรงไฟฟ้า และพลังงานทดแทน เช่น เอทานอล ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะขยายกำลังการลงทุนอะโรเมติกส์ขั้นปลาย (ดาวน์สตรีม)แทนที่จะขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยมองว่าปริมาณการกลั่นในอีก 3-4ปีข้างหน้ายังเกินความต้องการใช้อยู่ แม้ว่าเอเชียจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันมากที่สุดก็ตาม โดยเฉพาะจีนและอินเดีย

ทั้งนี้ บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือความท้าทายดังกล่าว โดยต้องทำตัวให้ความยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ (Flexibility) มีประสิทธิภาพการผลิตที่มีต้นทุนต่ำสุด (Efficiency) และความน่าเชื่อถือ (Reliability) โดยยอมรับกำลังการกลั่นของไทยออยล์ขณะนี้เกินความต้องการอยู่ 30%ของกำลังการกลั่น ซึ่งจะร่วมมือกับปตท.ในฐานะบริษัทแม่ที่จะหาตลาดส่งออกร่วมกันในจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น