xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทยยังต้องการแรงกระตุ้น เหตุตัวบ่งชี้การฟื้นตัว...เปราะบาง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนสิงหาคม 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบาง โดย การบริโภค และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เริ่มอ่อนแรงลง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง ได้ส่งผลทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในเดือนสิงหาคม 2552...

การใช้จ่ายภาคเอกชน...การบริโภคชะลอตัว
แต่การลงทุนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

- การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว MoM อีกครั้ง : ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนส.ค. พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) จากที่ขยายตัวในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. อย่างไรก็ดี ผลดีจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย และระดับราคาน้ำมันขายปลีกบางประเภทที่อยู่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลทำให้เครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ และหมวดเชื้อเพลิงบางรายการมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

แม้การบริโภคภาคเอกชนจะมีทิศทางที่ชะลอลงในเดือนส.ค. แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังคงขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาที่ระดับ 74.5 ในเดือนส.ค. จากระดับ 73.4 ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าค่าดัชนียังคงอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งบ่งชี้ถึง ความเปราะบางของความเชื่อมั่น และอาจถูกกระทบจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนต่างๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า อาทิ เสถียรภาพการเมืองในประเทศ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009

- การลงทุนภาคเอกชนขยับขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน : ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนส.ค. 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อน (MoM) ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก.ค. ขณะที่ อัตราการหดตัวของการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อนึ่ง ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์พลิกกลับมาหดตัว (YoY) อีกครั้งร้อยละ 15.3 ในเดือนส.ค. แต่หากพิจารณาทิศทางโดยรวมจะพบว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีความสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ขยับขึ้นสู่ระดับ 46.1 ในเดือนส.ค. จากระดับ 45.0 ในเดือนก.ค. ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ยืนเหนือระดับ 50.0 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในบางภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดเดือนส.ค. 2552 ปรับลดลงมาที่ 88.0 จาก 89.9 ในเดือนก.ค.

ภาคการผลิต...สัญญาณบวกเริ่มชะลอลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนก่อนหน้า : ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 3.6 (MoM) ในเดือนส.ค. 2552 พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ในเดือนก.ค. ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่องอีกร้อยละ 10.3 ในเดือนส.ค. 2552 และเป็นตัวเลขที่แย่กว่าอัตราการหดตัวร้อยละ 7.1 ในเดือนก.ค. ทั้งนี้ การหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกิดขึ้นทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมเพื่อขายในประเทศ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 59.5 ในเดือนส.ค. 2552 จากร้อยละ 61.6 ในเดือนก.ค.

ภาคเกษตร...รายได้เกษตรกรหดตัวในอัตราที่ชะลอลง : รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 17.1 (YoY) ในเดือนส.ค. 2552 ดีขึ้นจากที่เคยลดลงร้อยละ 22.4 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ราคาและปริมาณพืชผลที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่อาจเริ่มขยับขึ้นตามราคาตลาดโลก และสถานการณ์ภัยธรรมชาติซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญ อาจเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของรายได้เกษตรกรในระยะข้างหน้า

ภาคต่างประเทศ...บันทึกยอดเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น
การส่งออกหดตัว (YoY) ในอัตราที่ชะลอลง 3 เดือนติดต่อกัน :
การส่งออกหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 17.9 (YoY) ในเดือนส.ค. 2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 25.7 ในเดือนก.ค. และหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำ การส่งออกจะหดตัวลงร้อยละ 20.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 24.5 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าส่งออกหดตัวลดลงเหลือร้อยละ 16.2 ในเดือนส.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.6 ในเดือนก่อนหน้า

การนำเข้ายังคงหดตัวสูง : การนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 33.8 (YoY) ในเดือนส.ค. 2552 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 32.1 ในเดือนก.ค. โดยปริมาณสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ 30.9 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 26.2 ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ราคาสินค้านำเข้า ติดลบร้อยละ 4.2 (หลังจากที่ติดลบร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การนำเข้ายังคงทรุดตัวอย่างต่อเนื่องในทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น (หดตัวร้อยละ 50.9 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 44.8 ในเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นไปตามการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น : มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้ส่งผลทำให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุล 2,271.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. 2552 เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุล 799.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. แต่เนื่องจากดุลบริการฯ บันทึกยอดขาดดุล 355.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. ตามการหายไปของรายได้จากการท่องเที่ยว และการนำส่งกำไรกลับของธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคาร ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 1,915.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. แต่ก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่เกินดุลเพียง 539.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.

...โดยสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2552 ที่รายงานโดยธปท.โดยรวม ยังคงสะท้อนถึงแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ อาทิ การบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม จะอ่อนแรงกว่าคาดก็ตาม แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความไม่ต่อเนื่องของสัญญาณบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว ถือเป็นสถานการณ์ปกติของเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว (จากภาวะถดถอย) ซึ่งเป็นนัยว่า เศรษฐกิจไทยยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงิน-การคลังในระยะถัดไปเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว และลดความเสี่ยงที่จะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง

ทั้งนี้ คาดว่า แนวนโยบายของทางการไทย น่าที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปีหน้า แต่คงจะต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ ก็คือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะเป็นตัวกำหนดจังหวะเวลาการเริ่มวัฏจักรคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. และเสถียรภาพการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ กดดันบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน และบั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกของไทยจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทิศทางของค่าเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย ก็คงเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกดังกล่าวยังคงต้องพึ่งพาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่เป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอาจจะไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2552 จะยังคงน้อยกว่าการหดตัวในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2552 โดยอัตราการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 3/2552 อาจน้อยกว่าร้อยละ 4.5
กำลังโหลดความคิดเห็น