xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอTOPเผยแผนผนึกปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “สุรงค์”ซีอีโอคนใหม่ไทยออยล์ ชูวิสัยทัศน์เชื่อมโยงธุรกิจไทยออยล์เข้ากับปตท. วางกลยุทธ์การทำตลาดร่วมกันจากเดิมต่างคนต่างทำ พร้อมทั้งดูลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ แย้มเล็งขยายกองเรือ หวังลดต้นทุนการขนส่ง มั่นใจปีนี้มีกำไรสูงกว่า 9พันล้านบาท หลังจากผลประกอบการไตรมาส 3 ดีอยู่ มาจากธุรกิจอะโรเมติกส์

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า ภาระกิจที่ได้รับมอบหมายจากปตท.ในฐานะบริษัทแม่ คือการเชื่อมโยงธุรกิจไทยออยล์กับปตท. เนื่องจากสถานการณ์การกลั่นล้นตลาด ทำให้ต้องมีการวางกลยุทธ์การทำตลาดร่วมกับเครือปตท.โดยอาศัยเน็ตเวิร์คที่มีอยู่ในต่างประเทศในการระบายสินค้า จากเดิมที่มีการบริหารเชิงเดี่ยว อีกทั้งผลักดันให้ไทยออยล์มีบทบาทสำคัญในการส่งออกด้วย เนื่องจากไทยออยล์มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สอดคล้องกับเป้าหมายที่ปตท.วางไว้ใน 5ปีข้างหน้า จะมีรายได้จากต่างประเทศ คิดเป็น 20% ของรายได้รวม จากปัจจุบันที่รายได้จากต่างประเทศเพียง 10%เท่านั้น

ทั้งนี้ ภาระกิจช่วงแรกที่เข้ามาเป็นซีอีโอไทยออยล์ มี 3 เรื่องที่ต้องทำ คือ 1. ต้องรู้จักคนกับงาน โดยอยู่ระหว่างการเรียนรู้ทำความเข้าใจธุรกิจ ซึ่งทีมงานไทยออยล์ให้การต้อนรับอย่างดีเยี่ยม 2.ปัจจัยภายนอก โดยทำความเข้าใจกับคนในชุมชนโดยรอบโรงกลั่น และ3.การเชื่อมโยงธุรกิจไทยออยล์กับปตท. ซึ่งเป็นเรี่องที่ให้ความสำคัญมาก เนื่องจากสถานการณ์การกลั่นล้นตลาด ทำให้ต้องมีการวางแผนทำตลาดร่วมกัน โดยไทยออยล์จะมีบทบาทสำคัญในการทำตลาดต่างประเทศ โดยอาศัยเน็ตเวิร์คที่มีอยู่ในต่างประเทศทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ฟิลิปปินส์

ขณะเดียวกันก็หาโอกาสให้ไทยออยล์ลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากร เทคโนโลยี และเงินทุน ซึ่งหากการลงทุนในไทยไม่เอื้อก็อาจไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยรูปแบบการลงทุนในต่างประเทศจะไปเป็นกลุ่มในเครือฯ อีกทั้งไทยออยล์มีศักยภาพด้านกองเรือในนามบริษัท ไทยออยล์มารีน ที่มีเรือประมาณ 6 ลำ มองว่าจะเป็นหัวหอกในการขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของเครือปตท.ไปต่างประเทศ จึงมองหาโอกาสที่จะขยายกองเรือเพิ่มเติม เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งได้มากจากเดิมที่ต้องพักเรือที่สิงคโปร์ ส่วนการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันต่างประเทศนั้น คงต้องคำนึงถึงภาพรวมของตลาดเป็นสำคัญ แต่อาจจะเป็นลักษณะเข้าไปสร้างโรงกลั่นใหม่ หรือซื้อโรงกลั่นที่มีปัญหาก็ได้

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีโอกาสไปลงทุนให้บริการด้านเทคนิคคอล เซอร์วิสในต่างประเทศ เนื่องจากไทยออยล์มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้

นายสุรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจการกลั่นในช่วงนี้มาร์จินน้อยมากแค่ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากกำลังการกลั่นในตลาดโลกสูงกว่าความต้องการใช้น้ำมัน และราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลขยับขึ้นมาระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันผันผวนไปตามทิศทางตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน จากค่าการกลั่นน้ำมันที่ต่ำมาก ทำให้โรงกลั่นน้ำมันแบบstand alone อยู่รอดได้ยาก ทำให้มีการขายโรงกลั่นน้ำมันแล้วในสหรัฐฯ ขณะที่โรงกลั่นในญี่ปุ่นก็ปรับลดกำลังการผลิตลง ภายใต้สถานการณ์การกลั่นที่ล้นตลาดเช่นนี้ โรงกลั่นไทยออยล์เดินเครื่องผลิตน้ำมันเต็มที่ 2.75 แสนบาร์เรล/วัน
เนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์มีความสามารถในการเลือกใช้ชนิดน้ำมันดิบและปรับการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มีมาร์จินไม่ดีไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอะโรเมติกส์ที่ได้มาร์จินดีกว่าได้ และ นำน้ำมันเตามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ขณะเดียวกันไทยออยล์ยังมีโรงไฟฟ้าป้อนธุรกิจตัวเองทำให้มีความมั่นคงด้านการผลิตสูงมากกว่าเมื่อเทียบโรงกลั่นอื่นๆ ทำให้ปตท.เลือกไทยออยล์เป็นผู้นำด้านการกลั่นในเครือฯ

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 นี้ น่าจะออกมาดี แม้ว่าค่าการกลั่นรวม (GIM) จะต่ำกว่า 5.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล(ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน) จากในไตรมาส 2/2552 แต่มาร์จินจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2552 ที่ระดับ 155 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 159 เหรียญสหรัฐ/ตัน และมีStock Gain อยู่ที่ 0.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเชื่อว่าค่าการกลั่นจะกลับมาดีขึ้น หลังจากโรงกลั่นหลายแห่งลดกำลังการผลิตลง ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้จะมีกำไรสูงกว่า 9 พันล้านบาท เนื่องจาก 8 เดือนแรกทำกำไรได้แล้ว 8 พันล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติการลงทุนประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ ใช้เงินลงทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการผลิตรับเบอร์ โฟรเซสซิ่งออยล์ ของบริษัท ไทยลู้บเบส ใช้เงินลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2554

“ในปีนี้คงไม่เห็นการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยออยล์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยออยล์ได้มีการลงทุนไปแล้ว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 5 หมื่นบาร์เรล/วัน โครงการขยายกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ และโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันยูโร 4 และท่าเทียบเรือ เป็นต้น แต่จะมีการลงทุนปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เงินไม่มาก ”

ขณะที่การควบรวมกิจการโรงกลั่นในกลุ่มปตท. นั้น เชื่อว่าไทยออยล์จะเป็นรายสุดท้ายที่จะควบรวมกับกลุ่มโรงกลั่นในเครือปตท. เนื่องจากมองว่าบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และ บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) มีความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกันก่อน เพราะที่ตั้งอยู่ใน อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เหมือนกันทั้ง 3 ราย ขณะที่ไทยออยล์ตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งห่างออกมามาก และเป็นโรงกลั่นน้ำมันแบบครบวงจรอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น