ครม.อนุมัติหลักการ ร่าง กม.กำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสีย บ้าน 25 บ./ลบ.ม. ธุรกิจ 40 บ./ลบ.ม. ไฟเขียวเงินกู้ ขสมก.ปี 53 จำนวน 1,128 ล้าน เพื่อสนับสนุนบริการสาธารณะ พร้อมมีมติให้ขยายเวลาสำรวจแหล่งปิโตรเลียม JDA ของบริษัทร่วมทุน ปตท.สผ.ไปอีก 3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการคว้าน้ำเหลว เนื่องจากเป็นพื้นที่มีศักยภาพต่ำ
นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมการรับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียและการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้รับจ้างให้บริการ ฉบับละ 40 บาท , ใบอนุญาตเป็นผู้รับจ้างให้บริการ ปีละ 4 พันบาท , คำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุม ฉบับละ 40 บาท , ใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุม ปีละ 4 พันบาท
พร้อมทั้งกำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสียสำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย คิดอัตราไม่เกิน 25 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนกลุ่มพาณิชยกรรม คิดอัตราไม่เกิน 40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ที่ประชุม ครม. ยังอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อนำมาสนับสนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 จำนวน 1,128 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ในการกู้เงินครั้งนี้ ขณะที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้และพิจารณาเงื่อนไขรายเอียดการกู้เงิน หลังจากนั้นจะให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ต่อไป
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ จำนวน 230 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรเงินค่าใช้จ่ายให้กับกระทรวงคมนาคมใช้ดำเนินการในปีต่อๆ ไป พร้อมอนุมัติให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ผ่อนปรนการค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อ ตามโครงการการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยด้วย
มรายงานเพิ่มเติม ระบุว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ของสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพื่อขยายเวลาสำรวจปิโตรเลียมที่แปลง B17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ออกไปอีก 3 ปี ให้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล กับบริษัท PC JDA Limited
โดยสัญญาดังกล่าวทำไว้เมื่อ 30 กันยายน 2547 มีอายุ 35 ปี ประกอบด้วย เวลาในการสำรวจ 5 ปี ระยะถือครองเพื่อการหาตลาด 5 ปี ระยะเวลาพัฒนา 5 ปี และระยะผลิตก๊าซ 20 ปี หรือแหล่งน้ำมันดิบ 25 ปี ซึ่งระยะเวลาสำรวจครบกำหนดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552
ทั้งนี้ ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันผู้ได้รับสัญญาได้สำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแบบสามมิติ ครอบคลุมพื้นที่ 1,162 ตารางกิโลเมตร และเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม 7 หลุม ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินกว่าข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ 300 ตารางกิโลเมตร เจาะหลุมสำรวจ 2 หลุม มีค่าใช้จ่าย 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ จากการสำรวจดังกล่าวค้นพบแหล่งก๊าซ 7 แหล่ง มีปริมาณสำรองรวม 674 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ผู้ได้รับสัญญาได้รับอนุมัติจากองค์กรร่วมให้ถือครองพื้นที่แหล่งก๊าซทั้ง 7 แหล่งต่อไปเป็นเวลา 5 ปี นับจากสิ้นสุดระยะเวลาสิ้นสุดการสำรวจเพื่อหาตลาด และกำหนดแผนพัฒนาแหล่ง ทำให้เหลือพื้นที่ที่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียมอีก 2,906 ตารางกิโลเมตร
ผู้ได้รับสัญญาได้ยื่นคำขอต่อองค์กรร่วมเพื่อสงวนพื้นที่บางส่วนในแปลงสำรวจของตนที่ยังไม่ได้กำหนดเป็นพื้นที่ถือครองแหล่งก๊าซ โดยขอขยายระยะเวลาสำรวจออกไปอีก 3 ปี โดยเสนอข้อผูกพันการสำรวจเพิ่มเติมว่าต้องเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม และอาจเจาะหลุมสำรวจเพิ่มอีก 1 หลุม ศึกษาทางธรณีวิทยาและสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแบบสามมิติ ครอบคลุมพื้นที่ 300 ตารางกิโลเมตร โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจ่ายเงินอุดหนุนฝึกอบรมบุคลากรอีกปีละ 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ องค์กรร่วมได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้วมีมติให้ขยายเวลา ซึ่งจะไม่กระทบกับระยะเวลารวม 35 ปีของระยะเวลาแบ่งปันผลผลิต โดยจะนับต่อเนื่องพร้อมกับระยะถือครองแหล่งก๊าซ 5 ปี
นอกจากนี้ การขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี สำหรับพื้นที่ของแปลงส่วนที่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และศักยภาพต่ำ ให้ผู้รับสัญญาเดิมที่มีประสบการณ์อยู่แล้วช่วยลงทุนเพิ่มเติมเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมต่อไป