“อภิสิทธิ์” เผยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เห็นชอบตามมาตรา 61 วรรค 2 ตรวจสอบโครงการมาบพุดเข้าข่ายกระทบแวดล้อมหรือไม่ หลังหลายฝ่ายร้องเรียน เตรียมตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบรายงาน พร้อมมอบ “กอร์ปศักดิ์” คุยชาวบ้านหาวิธีเยียวยา แต่ยันโครงการมาบตาพุดผ่านการตรวจสอบไม่มีน่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กรรมการสิ่งแวดล้อมยังไฟเขียวกำหนดค่าควบคุมมาตรฐานฝุ่นละออง การปล่อยทิ้งน้ำ และอากาศเสียจากโรงงานใหม่
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า การแก้ปัญหามาบตาพุด กรรมการสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบในมาตรา 61 วรรค 2 เรียบร้อยแล้ว จะทำเป็นประกาศออกมา จะมีความชัดเจนตั้งแต่เรื่องที่ว่าโครงการใดบ้างจะเข้าข่ายมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 4 ทาง คือ 1.เกิดขึ้นจากประกาศกระทรวง ทบวง กรม 2.เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว และโครงการนั้นจะกระทบต่อความอ่อนไหวในพื้นที่ 3.เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามายังอนุกรรมการว่าโครงการใดจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง 4.ถ้ามีโครงการที่มีการดำเนินการไปแล้วเกิดผลกระทบจริงก็สามารถย้อนกลับมาในส่วนกระบวนการนี้ได้ นั่นประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 2 มีการเห็นชอบหลักวิธีการในการทำทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จะใช้แนวทางที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบ และจะมีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกระบวนนี้จะมีการเฉพาะเจาะจงมากกว่าระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น แล้วก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจ คือ เป็นตัวแทนจากทางด้านองค์กรสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ กับผู้แทนสถาบันศึกษา เข้ามาเป็นองค์การอิสระที่สามารถรับรายงานจากผู้ชำนาญการไป แล้วไปพิจารณาและ เพื่อส่งความเห็นกลับมาให้หน่วยงานที่ตัดสินใจได้ ฉะนั้นกระบวนมาตรา 67 วรรค 2 ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย ตอนนี้ก็มีความชัดเจนแล้ว และจะประกาศเร็วๆ นี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาอื่นๆ คือ 1.การแก้ปัญหาในพื้นที่เรื่องการเยียวยา ซึ่งรองนายกฯกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้คุยกับประชาชนที่เดินทางมา แล้วคิดว่าจะจัดทำแผนในพื้นที่ต่างๆ ได้ ขณะดียวกัน แผนที่จะประกาศใช้จากการที่เป็นเขตควบคุมมลพิษซึ่งส่งมาถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว สุดท้ายจะให้มีหารือเพื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เป็นลักษณะของกรรมการที่มีฝ่ายภาคประชาชน ราชการ ธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องมาช่วยดูว่าจะมีอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินการดำเนินโครงการ และติดตามตรวจสอบผลกระทบด้วย ส่วนการศึกษาเกี่ยวข้องกับภาพรวมของความสามารถของมาบตาพุดจะมีการเร่งรัดในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง อันนี้น่าจะเป็นแนวทางซึ่งเป็นคำตอบได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการที่มาจาก 4 กลุ่ม มีกรอบการทำงาน 90 วัน จะมีผลเร็วหรือช้าอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นข้อเสนออยู่ ก็มีการพูดคุยกันว่าไม่อยากให้ยาวเกินไป เพราะจะมีปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งต้องหาข้อยุติ และไม่สั้นเกินไป เพราะจะทำให้กระบวนการทำงานลำบาก
เมื่อถามว่า ใช้เกณฑ์อะไรพิจารณาว่ามันมีกระทบอย่างรุนแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าโครงการ 76 โครงการ ผ่านการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพบว่าไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ผู้ที่ห่วงใยมาดูได้เลยว่าโครงการไหนที่คิดว่ามีปัญหา มีปัญหาเรื่องใด และสามารคถจะทำอะไรได้ จะให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบจริงๆ
เมื่อถามว่า โครงการยังไม่ยุติจะให้ความมั่นใจกับประชาชนได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่ตรวจสอบไป ยังไม่มีการประกอบกิจการ เป็นเพียงการก่อสร้างเท่านั้นเอง ถ้าจะมีมาตรการเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมสามารถยืดหยุ่นได้ พร้อมกันนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานไปยังผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการ ก็ดูจะพร้อมเข้ามาร่วมโครงการนี้ เพื่อสร้าวความมั่นคงใจ ตนคิดว่าการก่อสร้างจะเป็นการตัดสินใจของเอกชน แต่การประกอบการคงทำไม่ได้ ส่วนการระงับโครงการกำลังขอความชัดเจนว่าจะหมายถึงการยุติการก่อสร้างหรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่า ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าพบพอใจมากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เห็นตรงกันในแนวทางนี้ ส่วนเรื่องศาลก็ว่าไป และมีการนัดไต่สวนในวันจันทร์ ศาลมีคำวินิจฉัยอย่างไรก็ปฏิบัติ เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงเรื่องพลังมวลชนในพื้นที่ตรงนี้จะมีการทำความเข้าใจหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าถ้าเห็นตรงกันในลักษณะนี้ก็จะทำความเข้าใจง่ายขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 มีการพิจารณาการดำเนินงานตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีมติเห็นชอบในหลักการการจัดทำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 วรรคสองและมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นเบื้องต้นต่อร่างประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เห็นชอบในหลักการการจัดทำร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1.ร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับโครงการหรือกิจการของภาครัฐด้าน....
2.ร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติสำหรับโครงการหรือกิจการของภาคเอกชนด้าน....
3.ร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศข้างต้น ตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบให้กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (50 µg/m3) และค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 0.025 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (25 µg/m3) โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจัดทำประกาศฯ เสนอประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาลงนาม ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีบางประเภทและบางขนาดเป็นแหล่งกำเนิดที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ซึ่งมีสาร 1, 2-ไดคลอโรอีเทน และสารไวนิลคลอไรด์เจือปนออกสู่บรรยากาศ
ทั้งนี้ เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียซึ่งมีสาร 1, 2-ไดคลอโรอีเทน และสารไวนิลคลอไรด์ เจือปนจากโรงงานอุตสาหกรรมเคมี โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำประกาศกระทรวงฯ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาลงนาม ต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ตามความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และเห็นชอบให้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้ง ตามความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ตลอดจนเห็นชอบกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำประกาศกระทรวงเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาลงนามต่อไป
สำหรับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน จำนวน 100 แห่ง รองรับน้ำเสียได้ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งพบว่าระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนดังกล่าว มีการปล่อยน้ำทิ้งในปริมาณมาก และยังไม่มีมาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน
ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจึงดำเนินการรวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพของระบบบำบัดฯ และข้อมูลมาตรฐานน้ำทิ้งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหารือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการจัดทำร่างมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ตามมาตรา 55 และ 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน โดยให้เพิ่มในกรณีใช้ระบบแบบบ่อผึ่ง กำหนดให้เป็นบีโอดีของน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว (Filtrated BOD) และกำหนดค่ามาตรฐาน ดังนี้ ค่า pH 5.5-9.0 บีโอดี ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร ของแข็งแขวนลอย ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม / ลิตร และในกรณีหน่วยบำบัดสุดท้ายเป็นระบบบ่อผึ่ง ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมันและไขมัน ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/ลิตร ไนโตรเจนทั้งหมด ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ลิตร ฟอสฟอรัสทั้งหมด ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมฟอสฟอรัส/ลิตร