xs
xsm
sm
md
lg

เบรกรถไฟฟ้าสีม่วง "มาร์ค"สั่งทบทวนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “มาร์ค” เฮี้ยบ ตีกลับโครงการลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง โยนให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาใหม่ สั่งทบทวนรายละเอียด รูปแบบ PPP-Gross Cost ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบและซื้อรถ ซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างบริหารการเดินรถและเก็บเงินค่าโดยสารเอง “ซาเล้ง” ยันรูปแบบนี้ดีที่สุด รัฐคุมค่าโดยสารได้ ร.ฟ.ท.ดึง “มาร์ค-ครม.” ทดสอบวิ่งรถแอร์พอร์ตลิงค์ 4 ธ.ค.นี้ ด้านบีทีเอสตั้งเป้าปี 53 ผู้โดยสารเพิ่ม 4%

นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะนำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือกฎหมายร่วมทุนปี 35 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยขอความเห็นชอบในหลักการที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) Gross Cost (ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบและซื้อรถ ซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างบริหารการเดินรถและเก็บเงินค่าโดยสารเอง) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ หลังจากที่ขอให้ถอนเรื่องออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 ธ.ค.)

“ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีการถกเถียงกันว่าจะทำรูปแบบใด แบบหนึ่งเหมือนเรายังผ่อนรถอยู่ อีกแบบ คือ รัฐไม่สนใจรถเลย เราสนใจแค่ว่ามีรถมาวิ่งครบ วันละกี่เที่ยว เราก็ต้องพิจารณาทางเลือกตรงนี้ให้ครบถ้วน เพราะเชื่อว่ารูปแบบนี้จะเป็นรูปแบบที่ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ต่อไปด้วย”นายอภิสิทธ์กล่าว

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเสนอรูปแบบ PPP-Gross Cost ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็เห็นด้วย เพราะมีข้อดีที่รัฐจะจัดเก็บค่าโดยสารเอง จึงเสนอเข้าครม.เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ แต่ที่ประชุมสงสัยเรื่องภาระการซ่อมบำรุง จึงต้องทำรายละเอียดเพิ่มและเสนอครม.เศรษฐกิจอีกครั้ง ส่วนการให้สัมปทานเอกชนนั้น จะเกิดข้อครหาจึงไม่เลือกแนวทางนี้

ทั้งนี้ สศช.ได้นำเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในรูปแบบ PPP-Gross Cost ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเอกชนจะลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตามมาตรฐานการให้บริการ โดยรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้ประโยชน์โครงสร้างงานโยธาและรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยรัฐจะจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ครม.ต้องการให้เกิดความรอบคอบในการลงทุนด้านการเดินรถ ซึ่งรฟม.จะทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ สศช.ก่อนเสนอครม.เศรษฐกิจพิจารณาอีกครั้ง เช่น ผลกระทบในกรณีต่างๆ ซึ่งรูปแบบ PPP- Gross Cost ที่เสนอนั้นเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนจัดหาตัวรถ และรับภาระการซ่อมบำรุง โดยรัฐผ่อนคืนภายหลัง ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด ส่วนรายละเอียดการผ่อนคืนนั้น คณะกรรมการมาตรา 13 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 จะศึกษารายละเอียดต่อไป

“ครม.สงสัยเรื่องรัฐจะเป็นเจ้าของรถหรือไม่ ใครรับภาระซ่อมบำรุง ซึ่งตรงนี้ รฟม.มีรายละเอียดแล้ว ก็จะสรุปให้สศช. ส่วนรายละเอียดการจ่ายค่าจ้าง จ่ายคืนค่าตัวรถให้เอกชนนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ที่จะศึกษาในขั้นตอนต่อไป หากครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว”นายชูเกียรติกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้ครม.เห็นชอบในหลักการของกรอบวงเงินลงทุนของโครงการที่เพิ่มขึ้นอีก 13,625 ล้านบาทจากเดิม 46,560 ล้านบาท เป็น 60,185 ล้านบาท เนื่องจากวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาระบบรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 382 ล้านบาท จากการทำหน้าที่คัดเลือกผู้ลงทุน ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบการกำกับและการตรวจสอบการดำเนินงานและความปลอดภัยตามสัญญา ทำให้วงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาของโครงการเพิ่มขึ้นจาก 1,296 ล้านบาท เป็น 1,678 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้ามีจำนวน 13,243 ล้านบาท

ดึง “มาร์ค-ครม.”ทดสอบแอร์พอร์ตลิงค์

วานนี้ (1 ธ.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้ประชาชนรับบัตรโดยสาร ร่วมทดสอบการเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตลิ้งค์ เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 5-7 ธ.ค.2552 โดยมีประชาชนประมาณ 200 คนทยอยมารอรับบัตรที่สำนักงานใหญ่ร.ฟ.ท. จนถึงเวลา 12.00 น. มีประชาชนรับบัตรโดยสารรวม 5,000 ใบ

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าร.ฟ.ท. กล่าวว่า รถแอร์พอร์ตลิ้งค์ทดสอบจะวิ่งระหว่างสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน – สถานีสุวรรณภูมิ โดยไม่จอดสถานีใดๆ ทุกๆ 15 นาที ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. ส่วนในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ร.ฟ.ท. จะเปิดทดสอบระบบทั้งหมดอย่างเป็นทางการ โดยเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมทดสอบด้วย

บีทีเอสตั้งเป้าปี 53 ผู้โดยสารเพิ่ม 4%

นายอาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า ปัจจุบัน บีทีเอสมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันประมาณ 450,000 -460,000 คน โดยบางวันมีผู้โดยสาร สูงสุดมากกว่า 800,000 คนต่อ ซึ่งในปี 2552 บีทีเอสได้เปิดให้บริการครบ 10 ปี และแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่จำนวนผู้ใช้บริการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 4% และเชื่อว่าในปี 2553 การเติบโตของจำนวนผู้โดยสารและรายได้ก็จะอยู่ในระดับเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น