xs
xsm
sm
md
lg

“พรทิวา”ตั้งทีมดูแลกลยุทธ์รายสินค้าดันส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พรทิวา”สั่งกรมส่งเสริมการส่งออกตั้งประธานกลุ่มสินค้า 5 กลุ่ม ดูแลสินค้า 10 อันดับแรก ที่มีสัดส่วน 70% ของการส่งออกทั้งหมด พร้อมตั้งประธานดูแลสินค้าเอกลักษณ์ไทย สินค้าใหม่ และดูแล SMEs หวังให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรง เตรียมหารือรูปแบบการทำงานแนวใหม่ร่วมกับภาคเอกชนเร็วๆ นี้ มั่นใจช่วยดันส่งออกปีหน้าโต 10-15% ได้แน่

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการส่งออกปรับรูปแบบการดูแลสินค้าส่งออกสำคัญใหม่ โดยแต่งตั้งให้มีประธานกลุ่มสินค้า (Chief of Product) ดูแลสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยเป็นพิเศษ เพราะสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของการส่งออกทั้งหมด และมูลค่าคิดเป็น 85% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดจึงต้องการให้มีผู้รับผิดชอบ ทั้งการวางแผนบุกเจาะตลาด การเพิ่มยอดการส่งออก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมการส่งออกให้เหมาะสมกับแต่ละสินค้า แต่ละตลาด

สินค้าทั้ง 10 รายการ ได้แต่งตั้งให้มีประธานกลุ่มสินค้าดูแลจำนวน 5 กลุ่ม คือ 1.นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ดูแลสินค้าอาหาร และข้าว 2.นางพิรมล เจริญเผ่า รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ดูแลสินค้าสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ 3.นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ดูแลสินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า4.นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ ดูแลสินค้าวัสดุก่อสร้าง เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 5.สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางพารา ยังไม่ได้แต่งตั้งประธานกลุ่มสินค้า

นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งประธานกลุ่มสินค้าเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม คือ นางทัศนีย์ สุทธภักติ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ ดูแลสินค้าเอกลักษณ์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม กล้วยไม้ อาหารไทยและสปาไทย นางณัฎฐา รัตนเลิศ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ ดูแลสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออก เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์เภสัช เคื่องมือแพทย์ เครื่องเขียนและธุรกิจสิ่งพิมพ์ และนางสาวกาญจนา เทพารักษ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ ดูแลผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความพร้อมในการส่งออก และการส่งเสริมสินค้า OTOP

“ที่ทำแบบนี้ เพราะต้องการให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบเป็นรายสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก และยังสะดวกในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเอกชนที่ต้องการมาติดต่อก็จะรู้เลยว่าสินค้านี้ บริการนี้ ควรจะคุยกับใคร จะได้ทำงานกันง่ายขึ้น และในเร็วๆ นี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อแนะนำตัวประธานกลุ่มสินค้าในแต่ละกลุ่มต่อไป”นางพรทิวากล่าว

นางพรทิวากล่าวว่า สำหรับรูปแบบการทำงานประธานกลุ่มสินค้าจะต้องเข้าไปดูว่าสินค้าที่ตนเองรับผิดชอบนั้น ปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกเท่าไร มีตลาดส่งออกสำคัญอะไรบ้าง ยอดการส่งออกไปแต่ละตลาดเป็นอย่างไร ตลาดไหนควรจะเพิ่มกิจกรรมเพื่อผลักดันการส่งออก เพราะเท่าที่แยกแยะออกมาในขณะนี้ พบว่า สินค้าบางรายการ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดการส่งออกรวมกันเป็นแสนล้าน แต่มีงบประมาณสนับสนุนการส่งออกแค่ 1.7% ของงบการส่งเสริมการส่งออกรวม ซึ่งถือว่าน้อยมาก

“ตอนนี้เราได้ทำ Matrix การส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก และตลาดส่งออกหลักออกมาแล้ว โดยจะดูเป็นรายสินค้าเลยว่าสินค้าตัวนี้ ส่งออกไปประเทศนี้เท่าไร ประเทศนั้นเท่าไร ประเทศไหนส่งออกได้มาก ได้น้อย โดยประเทศที่ส่งออกได้น้อย ก็ต้องเข้าไปดูว่าทำไมถึงส่งออกได้น้อย แล้วเราจะเพิ่มยอดส่งออกได้หรือไม่ ถ้าได้จะใช้วิธีการอะไร ประธานกลุ่มสินค้าก็ต้องไปคิดไปทำมา”นางพรทิวากล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่ดำเนินการปรับรูปแบบการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าในแนวใหม่นี้แล้ว มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยในปี 2553 มีอัตราการขยายตัวได้ 10-15% อย่างแน่นอน และอาจจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 18% ก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น