xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” การันตี “ดูไบเวิลด์” กระทบไทยสิวๆ-ไร้สัญญาณ ศก.ฟองสบู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” เผยหลัง 24 ชม.วิกฤต “ดูไบเวิลด์” ประเมินแล้วกระทบไทยน้อยมาก อาจเป็น 0 เหตุมูลหนี้น้อยเมื่อเทียบ “เลห์แมนบราเธอร์ส” ต้นตอวิกฤตการเงินสหรัฐฯ แถมยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั่วโลก ขณะรัฐแม่ “อาบูดาบี” พร้อมช่วยเหลือ ส่วนการลงทุนในไทยยังไม่มี ยันไร้สัญญาณฟองสบู่ในไทย แนะจับตาจีนสินเชื่อพุ่ง แต่รัฐบาลสั่งเบรกแล้ว

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายกรณ์ จาติกวณิช ให้สัมภาษณ์

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจไทยในบริบทเศรษฐกิจโลก” ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่น 2 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 11.00-12.00 น.วันนี้ (28 พ.ย.) ว่า จากกรณีที่ดูไบเวิลด์ กลุ่มธุรกิจของรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องขอพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือนนั้น หลังจากติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก จนแทบจะเป็น 0 โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีบริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีปัญหาด้านเงินกู้เหมือนกัน แต่ผลกระทบของปัญหาจะแตกต่างกันมาก เนื่องจาก เลห์แมน บราเธอร์ส มีมูลค่าหนี้ถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ดูไบเวิลด์ มีหนี้เพียง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างในเรื่องของทรัพย์สิน โดย เลห์แมนบราเธอร์ส นั้น มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ ซึ่งหาราคาที่แท้จริงได้ยากและมีความผันผวนสูง ขณะที่ดูไบเวิลด์มีอสังหาริมทรัพย์ ตึก โครงการลงทุนต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก หากมีปัญหาถึงขั้นจะต้องขายทรัพย์สินแล้ว เมื่อรวมมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ก็จะมีมากกว่ากรณีของเลห์แมนบราเธอร์ส สรุปก็คือหลักทรัพย์ค้ำประกันของดูไบเวิลด์นั้นมีมากกกว่า

นอกจากนี้ นายกรณ์ กล่าวว่า ดูไบเวิลด์ยังไม่มีการลงทุนในไทย ที่ผ่านมา แม้จะมีข่าว แต่ก็เป็นแค่ราคาคุย ไม่ได้มาลงทุนจริงจัง โดยเมื่อปีที่แล้ว ในช่วง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ชักจูงกลุ่มดูไบเวิลด์มาลงทุนทำแลนด์บริดจ์ (เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเข้าด้วยกัน) และได้มาคุยกับฝ่ายค้านด้วย ขณะที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัครได้มีมติให้ดูไบเวิลด์ทำการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยให้เอ็กซคลูซีฟไว้ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงมารายงานรัฐบาล ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน จึงมีการรายงาน และพบว่า ผลการศึกษาตื้นเขินมาก เราคิดว่าน่าจะมีข้อมูลอะไรที่ลึกกว่า แต่ปรากฏว่า ไม่มีความแตกต่างจากข้อมูลตอนที่เสนอไว้เมื่อปีก่อนเลย

“ความเป็นมืออาชีพของเขายังน้อยกว่าที่เราคาดคิด ทั้งที่จริงผมก็อยากจะเห็นแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ว่าจากที่เห็นมา ไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจ”

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐดูไบยังมีความแตกต่างจากรัฐอื่นของยูเออี คือ เป็นรัฐที่ค่อนข้างฟู่ฟ่าหวือหวากว่ารัฐอื่น อารมณ์หมั่นไส้จากรัฐอื่นก็มี ที่ผ่านมาอีก 7 รัฐอาจมองว่าดูไบเป็นหนี้เกินตัว และทำในสิ่งที่จะกระทบกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของ ยูเออีโดยรวมได้ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น และเป็นการประเมินภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการปล่อยสินเชื่อให้โครงการที่มีมูลค่าไม่เพียงพอกับมูลหนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าปัญหานี้จะหนักถึงขั้นที่เคยเกิดขึ้นกับเรา (เมื่อปี 2540)หรือไม่ แต่อย่างน้อยเขาก็มีอาบูดาบีที่เป็นรัฐแม่คอยช่วยเหลือ

นายกรณ์ ย้ำว่า ขณะนี้ดูไบเวิลด์เพียงแค่ขอพักชำระหนี้เท่านั้น เพียงแต่ว่าข่าวลงนั้นดูหวือหวา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบถึงเรามากนัก แม้ว่าจะมีผู้รับเหมาจากประเทศไทยไปรับงานที่ดูไบจำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่า โครงการเหล่านั้นคงไม่ยุติลงเสียทีเดียว เพียงแต่ชะลอไปบ้างเท่านั้น

สำหรับโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบูในไทยนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มี เมื่อวัดจากราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และราคาหุ้น เมื่อเทียบกับที่เคยขึ้นไปถึง 1,754 จุดตอนเกิดฟองสบู่ รวมถึงความฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฏ เนื่องจากเรายังอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นฟู การเมืองก็ยังไม่เอื้ออำนวย การปล่อยสินเชื่อยังไม่เพิ่ม สภาพคล่องยังล้น สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชนยังขยายตัวในอัตราติดลบ ยกเว้นธนาคารของรัฐเท่านั้นที่มียอดปล่อยกู้เพิ่ม เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่จึงไม่มี

ส่วนกรณีที่ราคาคอนโดมีเนียมย่ายใจกลางกรุงเทพฯ มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า มีไม่กี่แห่งที่ราคาเพิ่มขึ้นสูง และเป็นโครงการที่จับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็ออกไปจากประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

“อัตราดอกเบี้ย กนง.(คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ก็ยังไม่อยู่ในสถานะที่จะปรับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเรายังไม่อยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง ถ้าจะปรับอย่างมากก็ต้องรอปีหน้าครึ่งปีหลัง” นายกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ กล่าวว่า ประเทศที่น่าห่วงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่น่าจะเป็นประเทศจีน ซึ่งถือเป็นประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่จะช่วยดึงภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Old Economy) มีปัญหา ซึ่งจีนมีนโยบายให้อัดฉีดสินเชื่อเข้าในระบบเป็นจำนวนมาก จนเพิ่มขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีนี้ และอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ แต่ล่าสุดรัฐบาลจีนได้มีนโยบายที่จะเบรก เนื่องจากเขาสั่งธนาคารได้ จึงมีการเบรกการปล่อยสินเชื่อและให้ธนาคารเพิ่มทุน เพราะเขามองเห็นว่าคุณภาพสินเชื่ออาจลดลง ขณะที่ราคาทรัพย์สินก็เพิ่มขึ้นมากเกินไปจนอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่


กำลังโหลดความคิดเห็น