xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพล เศวตเศรนี” ชูก้าวใหม่ของ ททท.กับกลยุทธ์ “ดิจิตอลมาร์เกตติ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชูนโยบาย “ดิจิตอล มาร์เกตติ้ง” และ “อีโมชันนัล มาร์เกตติ้ง” ทำให้ สุรพล เศวตเศรนี ว่าที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชนะใจคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ ที่เทคะแนนให้ถึง 48.5 จากคะแนะเต็ม 50 เบียดแซงคู่แข่งขัน อย่าง นาฬิกอติภัค แสงสนิท รักษาการผู้อำนวยการ อพท.และ อักกพล พฤกษะวัน ที่ปรึกษาระดับ 11 ททท.ไปอย่างขาดลอย

ททท.หน่วยงานด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของ สุรพล เศวตเศรนี ลูกหม้อที่เริ่มต้นชีวิตทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2519 จนถึงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท.และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.อย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคม 2553

ด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ก้าวสู่โลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน ย่อโลกทั้งใบมาอยู่แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้วิสัยทัศน์ของ สุรพล เศวตเศรนี ที่แสดงให้กับคณะกรรมการสรรหาดูโดดเด่นเหนือใคร เพราะช่องการใช้สื่อออนไลน์ และ โซเชียลเน็ตเวิร์ก บนโลกไซเบอร์ขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญกับพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริโภค

สุรพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ททท.จับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และกำลังปรับปรุงการทำงานขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางของกระแสโลก ด้วยการปรับปรุงเว็บไซต์ และอุปกรณ์ด้านสารสนเทศ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในต้นปีหน้า จึงถือเป็นการทำงานที่ต่อยอดของเดิมที่เริ่มปูพื้นฐานไว้แล้ว ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเร็วขึ้น โดยจะเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับโลกยุคไอที

ขณะเดียวกัน มั่นใจว่า การผลักดันให้ เว็บไซต์ของ ททท.เป็นที่จดจำในสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยุคสมัยนี้กว่า 80% ของมนุษย์เงินเดือน จะวางแผนการท่องเที่ยวด้วยการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการจองซื้อทุกอย่างผ่านระบบทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้น ภายหลังกลับจากการท่องเที่ยวยังนำประสบการณ์ที่ได้ มาเล่าสู่กันฟังผ่านสังคมออนไลน์ ตรงนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญ หากเราเข้าถึงและทำได้ดี การบอกเล่าประสบการณ์จริงจากนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ เพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ทำให้ผู้รับรู้เกิดความต้องการที่จะมาสัมผัสของจริง ประกอบกับไทยมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย การนำเสนอสินค้าผ่านออนไลน์จะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงจุด

“ข้อมูลที่เราส่งและรับจากโลกออนไลน์นี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ ททท.จะต้องเก็บไว้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดในปีต่อๆ ไป เพราะเป็นข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่บ่งบอกถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวได้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จากข้อมูลระบุว่าสถิติผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีถึง 1,733.9 ล้านคน ซึ่งแน่นอน คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ และมีไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ที่ ททท.จะต้องไปช่วงชิงให้เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย พร้อมสร้างการบริการที่ประทับใจเป็นอีโมชันนัล มาร์เกตติ้ง เพื่อให้เกิดการมาซ้ำ ถือเป็นการบูรณาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบแบบยั่งยืน” สุรพล กล่าวทิ้งทาย
กำลังโหลดความคิดเห็น