xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพล เศวตเศรนี”ชูก้าวใหม่ของ ททท.กับกลยุทธ์ "ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชูนโยบาย “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง” และ “อีโมชันนัล มาร์เก็ตติ้ง” ทำให้ สุรพล เศวตเศรนี ว่าที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ชนะใจคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยว ที่เทคะแนนให้ถึง 48.5 จากคะแนะเต็ม 50 เบียดแซงคู่แข่งขัน อย่าง นาฬิกอติภัค แสงสนิท รักษาการผู้อำนวยการ อพท. และ อักกพล พฤกษะวัน ที่ปรึกษาระดับ 11 ททท. ไปอย่างขาดลอย

ททท.หน่วยงานด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของ สุรพล เศวตเศรนี ลูกหม้อที่เริ่มต้นชีวิตทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2519 จนถึงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.อย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคม2553

ด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ก้าวสู่โลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน ย่อโลกทั้งใบมาอยู่แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้วิสัยทัศน์ของ สุรพล เศวตเศรนี ที่แสดงให้กับคณะกรรมการสรรหาดูโดดเด่นเหนือใคร เพราะช่องการ ใช้สื่อออนไลน์ และ โซเชียลเน็ตเวิร์ตบนโลกไซเบอร์ขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญกับพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริโภค

สุรพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ททท.จับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และกำลังปรับปรุงการทำงานขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางของกระแสโลก ด้วยการปรับปรุงเว็บไซด์ และอุปกรณ์ด้านสาระสนเทศ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในต้นปีหน้า จึงถือเป็นการทำงานที่ต่อยอดของเดิมที่เริ่มปูพื้นฐานไว้แล้ว ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเร็วขึ้น โดยจะเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับโลกยุคไอที

ขณะเดียวกันมั่นใจว่าการผลักดันให้ เว็บไซน์ของ ททท.เป็นที่จดจำในสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยุคสมัยนี้กว่า 80% ของมนุษย์เงินเดือน จะวางแผนการท่องเที่ยวด้วยการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการจองซื้อทุกอย่างผ่านระบบทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นภายหลังกลับจากการท่องเที่ยวยังนำประสบการณ์ที่ได้ มาเล่าสู่กันฟังผ่านสังคมออนไลน์ ตรงนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญ หากเราเข้าถึงและทำได้ดี การบอกเล่าประสบการณ์จริงจากนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ เพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ทำให้ผู้รับรู้เกิดความต้องการที่จะมาสัมผัสของจริง ประกอบกับไทยมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย การนำเสนอสินค้าผ่านออนไลน์จะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงจุด

“ข้อมูลที่เราส่งและรับจากโลกออนไลน์นี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ ททท.จะต้องเก็บไว้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดในปีต่อๆไป เพราะเป็นข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่บ่งบอกถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวได้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จากข้อมูลระบุว่าสถิติผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีถึง 1,733.9 ล้านคน ซึ่งแน่นอน คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ และมีไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ที่ ททท.จะต้องไปช่วงชิงให้เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย พร้อมสร้างการบริการที่ประทับใจเป็นอีโมชันนัล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อให้เกิดการมาซ้ำ ถือเป็นการบูรณาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบแบบยั่งยืน” สุรพลกล่าว ทิ้งทาย
กำลังโหลดความคิดเห็น