“มาร์ค” นั่งหัวโต๊ะประชุม กอร.วันนี้ ส.อ.ท.-หอการค้าฯ ชงรัฐหันกลับมาใช้อนุญาโตตุลาการ ก่อนลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ หรือเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ โดยขณะนี้ มีสัญญาร่วมลงทุนหลายฉบับค้างอยู่
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กอร.) วันนี้ ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการยางเพื่อพัฒนาการผลิตยางที่มีมูลค่าเพิ่ม ลดการจัดเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล จาก 8.50 บาท เหลือ 4.50 บาท และเสนอให้นำระบบอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับเอกชนขึ้นมาใช้อีกครั้ง ก่อนถึงขั้นตอนศาล
โดยประเด็นสำคัญที่หารือกันในวันนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการเข้ามีส่วนร่วมเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ได้มีการเปิดประมูล เช่น การสนับสนุนใช้วัตถุดิบที่เป็นชิ้นส่วนในประเทศ การประกอบรถไฟฟ้าภายในประเทศ รวมทั้งเสนอรื้อฟื้นการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการใหม่ก่อนทำการสัญญาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หรือการรับสัมปทานของภาครัฐ เพื่อระงับข้อพิพาทหรือไกล่เกลี่ยปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง หากเกิดการฟ้องร้องคดีในชั้นศาล
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ไทยจำเป็นต้องมีระบบอนุญาโตตุลาการ สำหรับไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกับเอกชน เช่นเดียวกับต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นจะทำให้นักธุรกิจต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและขาดการลงทุนในไทย เพราะขณะนี้มีสัญญาร่วมลงทุนหลายฉบับค้างอยู่
“ตอนนี้ เอกชนโดยเฉพาะต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือเยอรมนี ต่างเห็นว่า อนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการสากลที่หลายประเทศใช้ เป็นหลักประกันด้านการลงทุน และกังวลว่าหากยกเลิกวิธีการอนุญาโต ตุลาการ เมื่อเกิดข้อพิพาท การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลต้องใช้เวลานานในการพิจารณา กระทบต่อการลงทุน และรายได้”
ดังนั้น เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีหลายโครงการค้างอยู่ เอกชนไม่กล้าลงนามในสัญญา เนื่องจากไม่มั่นใจในการลงทุน มีเพียงแค่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่านั้น ที่ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ระบุชัดว่า หากไม่มีอนุญาโตตุลาการจะไม่ให้เงินกู้
“ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในโลกมีระบบอนุญาโตตุลาการ แม้กระทั่งไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศต้องร้องขอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ แต่ไทยกลับจะยกเลิกเสียเอง ต่างชาติเขาจะมองเป็นประเทศล้าหลัง เกิดความไม่เชื่อมั่น ซึ่งการเอากรณีที่ภาครัฐแพ้ข้อพิพาทต่างๆ มาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเหตุที่แพ้นั้นก็เป็นผลจากการกระทำของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมากกว่า”