เอแบคโพลล์เผยเดือน ต.ค.ดัชนีความสุขคนไทยสูงขึ้น หลังจากการที่ได้แสดงความจงรักภักดี 9.84 จากคะแนนเต็ม 10 เพราะคนไทยได้ทราบข่าวในหลวงทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้น พร้อมระบุดัชนีความสุขของคนไทยตอนนี้เริ่มดีขึ้นทุกตัว ยกเว้นเรื่องการเมือง
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เผยผลสำรวจดัชนีความสุขของคนไทยประจำเดือนตุลาคม 2552 ในรูปแบบเรียลไทม์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,245 ครัวเรือน โดยพบว่า ความสุขของคนไทย อยู่ที่ระดับ 7.50 ขยับเพิ่มขึ้นจาก 7.18 ที่ได้จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งดัชนีปรับดีขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี แต่น่าเป็นห่วงเรื่องจิตสำนึกคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบค ระบุว่า ดัชนีความสุขของคนไทยทุกตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดีสูงถึง 9.84 จากคะแนนเต็ม 10 รองลงมา คือ ความสุขต่อบรรยากาศของคนในครอบครัวสูงขึ้นจาก 8.44 มาอยู่ที่ 9.00, ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีสูงขึ้นจาก 8.19 มาอยู่ที่ 8.22, ความสุขต่อสุขภาพใจสูงขึ้นจาก 7.73 มาอยู่ที่ 7.90, ความสุขต่อสุขภาพกายสูงขึ้นจาก 7.69 มาอยู่ที่ 7.77, ความสุขต่อหน้าที่การงานสูงขึ้นจาก 7.63 มาอยู่ที่ 7.67
ความสุขต่อสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยสูงขึ้นจาก 7.50 มาอยู่ที่ 7.64, ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนสูงขึ้นจาก 7.17 มาอยู่ที่ 7.54, ความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัวสูงขึ้นจาก 6.56 มาอยู่ที่ 6.92 และความสุขต่อความเป็นธรรมทางสังคมสูงขึ้นจาก 6.18 มาอยู่ที่ 6.99 ยกเว้นความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองที่ยังต่ำกว่าครึ่งคือได้ 4.74 จากคะแนนเต็ม 10 แต่สูงขึ้นจาก 4.63 มาอยู่ที่ 4.74
“ความสุขของคนไทยที่ค้นพบในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา เพราะคนไทยได้ทราบข่าวในหลวงทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้น การแสดงความจงรักภักดีของไทย และดัชนีความสุขของคนไทยทุกตัวมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นบรรยากาศทางการเมือง”
สิ่งน่าเป็นห่วงคือจิตสำนึกคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติ โดยกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มคนว่างงานที่ส่วนใหญ่จะเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวต้องมาก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ที่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวต้องมาก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ
“ไม่มีกลุ่มอาชีพใดที่โดดเด่นในเรื่องความรักชาติ เอาความอยู่รอดของประเทศชาติมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่กลุ่มข้าราชการก็ยังค้นพบเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และถ้ามองไปที่กลุ่มพ่อค้าก็พบว่าส่วนใหญ่จะเอาผลประโยชน์ของตนเองและครอบครัวมากกว่าความอยู่รอดของประเทศ กลุ่มคนที่พอจะพึ่งได้ คือ กลุ่มผู้เกษียณอายุที่คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น”