ธปท.มองแนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคการฟื้นตัว ศก.เพราะดัชนีผู้ผลิต PPI ยังคงติดลบ ชี้ ต้นเหตุอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นรอบนี้ เป็นประเด็นด้านนโยบาย ไม่ใช่เพราะความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น
นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2552 ที่ปรับสูงขึ้นเป็นบวก 0.4% เป็นผลจากฐานเงินเฟ้อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ และมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะสูงขึ้น แต่ดัชนีผู้ผลิต (PPI) จะยังคงติดลบอยู่
ทั้งนี้ หากมองเงินเฟ้อในระยะสั้นช่วง 3 เดือน คาดว่า ยังไม่มีปัญหา โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในกรอบประมาณการ 0.5-3.0% ยกเว้นมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ที่จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าที่ถูกกดไว้อาจจะเร่งตัวขึ้น และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นตาม
แต่อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวเป็นประเด็นด้านนโยบาย ไม่ใช่เพราะความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น ดังนั้น เงินเฟ้อพื้นฐานยังน่าจะอยู่ในกรอบ และยังไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ประกอบกับ ราคาน้ำมันในปี 2553 เชื่อว่า ยังไม่ปรับสูงขึ้น โดย ธปท.ประมาณการ ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2553 เร่งตัวขึ้นจาก 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปีนี้ ซึ่ง ธปท.มองว่า ราคาน้ำมันจะไม่เร่งตัวขึ้นมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ยกเว้นมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินที่เชื่อมโยงกับอัตราเงินเฟ้อ ขณะนี้ยังคงไม่มีแรงกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงิน โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ตลอดช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจก็ยังไม่ได้กลับมาขยายตัวดีมาก และการฟื้นตัวยังเปราะบาง ซึ่งต้องใช้นโยบายด้านการเงินช่วยประคับประคอง ขณะที่นโยบายการคลัง สวมบทบาทพระเอกตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า
ขณะเดียวกัน ธปท.จะติดตามปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐออกมาประกาศว่าสถาบันการเงินยังไม่ได้รับความช่วยหลืออย่างเต็มที่ ซึ่ง ธปท.ได้นำมาเป็นปัจจัยในสมมติฐานการคำนวณประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2553 แล้ว