กลุ่ม ปตท.-ปูนใหญ่ ยื่นอุทธรณ์ “มาบตาพุด” วันนี้ ผู้บริหารยืนยันชัดทำตาม กม.มาโดยตลอด แต่โครงการกลับถูกสั่งระงับทั้งหมด พร้อมแจงตัวเลขความเสียหายจริง ลั่นไม่ได้เมคตัวเลข ศก.เพื่อนำมาเป็นข้ออ้าง
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีเออาร์ กล่าวว่า วันนี้ (16 ตุลาคม 2552) ทางกลุ่ม ปตท.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขออุทธรณ์ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีข้อร้องเรียนของกลุ่มองค์กรเอกชน เรื่องการบังคับใช้มาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ โดยศาลปกครองกลางสั่งระงับการดำเนินกิจกรรมของ 76 โครงการที่มาบตาพุด
โดยในส่วนของกลุ่ม ปตท.ได้ยื่นอุทธรณ์กรณีการบังคับใช้มาตรา 67 เป็นการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องสุขภาพและชุมชน เพื่อให้ศาลได้รับทราบ ซึ่งการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง โดยนอกจากกลุ่ม ปตท.แล้ว วันนี้ ทราบว่าทางเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) หรือปูนใหญ่ ก็จะยื่นอุทธรณ์ในฐานะได้รับผลกระทบเช่นกัน
นายชายน้อยกล่าวว่า สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในช่วงปี 2550 ได้ออกมาตรการ 80:20 คือถ้าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ต้องลดมลพิษของโรงงานเก่าให้หมดก่อน และโรงงานใหม่จะต้องลดมลพิษจากเดิมลงอีกร้อยละ 20 ของมลพิษเดิมที่โรงงานเก่าสร้างไว้ รวมกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เดิมที่ปฏิบัติมาโดยตลอด อีกทั้งในอีไอเอนั้น ก็ยังมีการประเมินเอชไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องทำทุกปีด้วย
“ที่บอกว่าในการลดมลพิษตามมาตรการ 80:20 นั้น แม้ว่าจะกำหนดไว้เพียงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับไนโตรเจนไดออกไซด์ ไม่ได้รวมสารระเหยอินทรีย์ น้ำเสีย และขยะอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่บริษัทก็ไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ พิสูจน์ได้จากอดีตกระทั่งปัจจุบัน มลพิษทั้งหมดลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่มีอะไรเกินมาตรฐาน”
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ในฐานะนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม เราหลีกไม่ได้ที่จะต้องทำตามข้อบังคับตามกฎหมายอยู่แล้วไม่ว่าเรื่องไหน การลงทุนที่เราลงไป 25 โครงการมูลค่า 1.3 แสนล้านนั้น ถ้าเราไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และชุมชน เราจะลงทุนแค่ 1 แสนล้านถ้วนเท่านั้น
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสามารถทำให้อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พัฒนาควบคู่ไปด้วยกันได้ แม้จะยอมรับว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมบางรูปแบบอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับว่าทำอย่างไรให้ลดผลกระทบ และลดความรุนแรงดังกล่าวให้ทุกฝ่ายยอมรับให้ได้
ทั้งนี้ เอสซีจีพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกอย่าง และที่ผ่านมา การดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรคสอง ก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ทั้งการทำอีไอเอ และ เอชไอเอ อาจจะมีความบกพร่องบ้างในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น แต่ก็พร้อมที่จะแก้ไขและปฏิบัติตาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เมื่อศาลปกครองสั่งให้ระงับการดำเนินการชั่วคราว ทุกอย่างก็ต้องระงับไปหมด ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
“การเตรียมการเพื่อลงทุนนั้น เราเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2548-2549 ตอนนั้นดูขั้นตอน ทุกอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนดีมาก ยิ่งคนที่ให้กู้และถือหุ้นที่เป็นชาวต่างประเทศ ยิ่งรอบคอบเพิ่มขึ้น ถ้าอีไอเอไม่ผ่าน เขาจะไม่ยอมให้ เรากู้เลยแม้แต่บาทเดียว เราไม่ได้ลงทุนท่ามกลางความอึมครึมอย่างที่ถูกกล่าวหา เรื่องความเสียหายนั้น พวกผมเสียหายจริงๆ ไม่ได้เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจมาอ้าง แต่พูดในฐานะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมเหมือนกัน” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย