รายงานพิเศษ ......... ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด (1)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การเร่งทำคลอดร่างกม.สิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขใหม่เพื่ออุ้มนักลงทุนที่มีเม็ดเงินสูงถึง 4 แสนล้าน ปัญหาอาจจะไม่คลี่คลายและจบลงอย่างสวยงามดังหวัง เพราะภาคประชาชนค้านทันควัน ปมตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่มีความเห็นต่างระหว่างภาครัฐ+เอกชน VS ภาคประชาชน อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่ต้องเก็บกู้กันไม่สิ้นสุด
ผลสรุปการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้นำร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ...... เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 13 ต.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอสภาฯ โดยนายกฯ ได้ขอร้องให้ฝ่ายค้านไม่คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อเร่งคืนวันประกาศใช้ให้เร็วที่สุด
ประเด็นสำคัญในการร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คือ 1. มีการกำหนดกระบวนการถึงองค์กรที่จะไปชี้ว่าโครงการใดเข้าข่ายที่จะมีผลกระทบรุนแรง 2. กำหนดให้การจัดทำอีไอเอจะต้องมีการจัดทำผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน 3. ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และรับฟังความเห็นขององค์การอิสระก่อนที่จะมีการดำเนินการโครงการ
นั่นเป็นความมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพื่ออุ้มเอกชน จากผลพวงคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้ระงับการก่อสร้างหรือกิจกรรมใดๆ เป็นการชั่วคราวใน 76 โครงการเขตจังหวัดระยอง ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อการลงทุนที่มีเม็ดเงินสูงถึง 400,000 ล้านบาท ชนิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งการลงทุนโดยตรงที่ต้องชะงักงัน ตลาดหุ้นที่ผันผวนเพราะมาร์เก็ตแค็ปของ 2 กลุ่มใหญ่ที่เจอแจ๊กพ็อต คือ เครือปตท.และเครือปูนใหญ่ มากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้น ไหนจะกระทบถึงแบงก์ผู้ปล่อยกู้และหุ้นแบงก์อีกทอดหนึ่งด้วย
แต่การเร่งรีบแก้ไขปัญหาให้เอกชนของรัฐบาลข้างต้น อาจไม่ราบรื่นและสำเร็จดังหวัง เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้รับฟังความเห็นของภาคประชาชนที่มีส่วนได้เสีย ได้รับผลกระทบว่ายอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการชี้ขาดว่าโครงการลงทุนนั้นๆ ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน
หากมองอย่างผิวเผินและมองจากสายตาคนนอกที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่กับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาแบบขอไปทีตลอดห้วงเวลากว่า 30 ปีการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ของฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มทุน ก็อาจบอกว่า การเร่งคลอดร่างแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม ครอบคลุมตามที่รัฐบาลบอกว่า เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้แล้ว ทั้งการรับฟังความเห็นของประชาชนและองค์กรอิสระ และการกำหนดประเภทโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง ภาคประชาชนจะยังต้องการอะไรอีก
ข้อกังขานี้ หากมองย้อนกลับไปไม่นานคือหลังรัฐธรรมนูญฯ 2550 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 50 จนถึงวันนี้ ก็จะได้คำตอบว่า ภาคประชาชนต้องการอะไร และอย่างไร ทั้งเรื่อง องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการกำหนดประเภทโครงการผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
อันที่จริงการขับเคลื่อนเพื่อให้สองประเด็นสำคัญข้างต้นเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 เริ่มต้นได้อย่างดียิ่ง เพราะหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้มาศึกษา รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย กระทั่งนำไปสู่การจัดทำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ..... และร่างโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
แต่สุดท้าย ทั้งร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และร่างโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 19 ประเภท กลับถูกแช่แข็ง บิดพลิ้ว จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม สำหรับโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ถูกตัดทอนเหลือเพียง 8 ประเภท และเป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะมีปัญหาการคัดค้านและฟ้องร้องตามมาในไม่ช้านี้
ศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 43 ราย ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้สั่งระงับการก่อสร้าง 76 โครงการในเขตจังหวัดระยองไว้ชั่วคราวและศาลฯมีคำสั่งตามคำขอ เปิดเผยว่า ร่างแก้ไขพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่กล่าวถึง คงเป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างมาก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 เดือนก่อน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยทุกประการ
ทั้งนี้ เพราะให้อำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เบ็ดเสร็จในการกำหนดว่าองค์กรไหนที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งอาจมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อสวมเป็นองค์กรอิสระ ซ้ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังมีอำนาจถอดถอนออกองค์กรอิสระได้
ดังนั้น ความจริงก็คือองค์กรอิสระไม่ได้เป็นอิสระที่แท้จริง กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้ชี้นำ กำกับ สั่งการได้ การเลือกแนวทางแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 35 แทนที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อคงอำนาจของนักการเมืองและราชการไว้ตามเดิม
“หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ไม่จบแน่ ภาคประชาชนต้องคัดค้านเต็มที่ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่รัฐบาลจะผลักดัน เป็นการปิดห้องทำกันไม่กี่คนของกฤษฎีกา มุบมิบใช้อำนาจทางปกครองทำโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิ์มีเสียง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน และเป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ ” ทนายความภาคประชาชน กล่าว
ขณะนี้ ภาคประชาชน อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย ได้รวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อเร่งรัดให้กฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้