xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์แฉธุรกิจเถื่อนเพียบ ต้นตอเงินกู้ช่วยเหลือท่องเที่ยวอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอีแบงก์ แฉความล่าช้าการปล่อยเงินกู้ในโครงการเงินกู้ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว เหตุเพราะเอกชนท่องเที่ยวกว่า 80% ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงต้องเสียเวลาเป็นเดือนไปยื่นขอ เผยล่าสุดปล่อยเงินไปแล้ว กว่า 1.5 พันราย เป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท เชื่อ สิ้นปีนี้ปล่อยครบ 5 พันล้านบาท ด้าน “ศศิธารา” เล็งอ้อนรัฐเพิ่มวงเงินอีกรอบสั่งเอกชนรวบรวมผลงานเป็นตัวชี้วัด ขณะที่ภาคโรงแรม เผย ผู้ประกอบการรายใหญ่รอคิวขอกู้อีกกว่า 30 ราย วงเงินเฉียด 6 พันล้านบาท วอนเสื้อแดงหยุดชุมนุมเศรษฐกิจไทยก็ฟื้น

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ SME POWER เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.52 ธนาคารได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรวม 1 ,563 ราย เป็นวงเงิน 2,644.40 ล้านบาท ในที่นี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับกรเบิกจ่ายเงินกู้แล้วเป็นจำนวน 1,187 ราย รวมเป็นวงเงิน 2,044.08 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของจำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งที่เหลืออยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินงานเร็วๆนี้ก็จะทยอยจ่ายเงินให้ต่อเนื่อง

จากตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดกรองหมดแล้วทั้งสิ้น โดยคัดเลือก จากจำนวนผู้ประกอบการที่ติดต่อขอสินเชื่อจากโครงการนี้ทั้งสิ้น 3,019 ราย วงเงิน 6,144.65 ล้านบาท แต่มีคุณสมบัติเบื้องต้นผ่านมายื่นเสนอขอสินเชื่อได้ 2,185 ราย วงเงิน 4,046.45 ล้านบาท

สำหรับโครงการ SME POWER เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ระยะที่ 2 ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว ยื่นขอแล้ว 16 ราย รวมวงเงิน 45 ล้านบาท ขณะที่ยอดรวมวงเงินที่ยังเหลือปล่อยกู้ได้ขณะนี้ราว 2,400 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งวงเงินไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงคาดว่า จากวงเงินที่เหลืออยู่อาจจะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการได้ถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่ภาพรวมลูกค้าที่กู้เงินจากเอสเอ็มอีแบงก์ทั้งระบบ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวถึง 5% รวมวงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท

***เหตุช้าเพราะเอกชนไม่มีใบอนุญาต*****
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้แก่ภาคเอกชนท่องเที่ยวมีความล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา เกิดจาก 1.รายได้ (NPL) 2.หาผู้ค้ำประกันไม่ได้ บ้างก็ประวัติทางการเงินของผู้ค้ำประกันไม่ดีพอ ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ ข้อ 3.ผู้ประกอบการที่มายื่นขอสินเชื่อกว่า 80-90% ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงทำให้ต้องเสียเวลาไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือน

“เกือบทุกกิจการที่ยื่นขอ ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยว ส่วนใหญ่ไม่มีใบประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเท่ากับผิดกฎระเบียบของธนาคารจึงไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ได้แม้ขั้นตอนต่างๆจะผ่านหมดแล้วก็ตาม แต่หากติดเอกสารตรงนี้เพียงตัวเดียว ธนาคารก็ปล่อยเงินให้ไม่ได้ ทั้งที่เงินเราก็มีพร้อมปล่อยออกไปอยู่แล้ว ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุหลักของความล่าช้า” นายโสฬส กล่าว

***เตรียมรวมผลงานขอวงเงินเฟส 3*****
ทางด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตัวแทนเอกชนท่องเที่ยวทั้ง 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมภัตตาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารออมสิน ในการเดินหน้าโครงการเงินกู้นี้ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ผู้ประกอบการที่ผ่านการอนุมัติแล้วจะได้รับเงินเร็วขึ้น ซึ่งเราจะมีการประชุมอัพเดทข้อมูลกันทุกเดือน และในการประชุมครั้งนี้ จึงได้ขอให้ทั้ง 4 สมาคมท่องเที่ยวไปรวบรวมผลของมาตรการโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ ช่วยฟื้นวิกฤตการท่องเที่ยว และเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างใดบ้าง เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะรวบรวมตัวเลขทั้งหมดนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมอีกเป็นเฟสที่ 3 ในปีหน้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการและสอดคล้องกับระยะเวลาของโครงการที่รัฐบาลได้ขยายให้ถึง 31 ก.ค.2553

อย่างไรก็ตาม จากการที่ ครม.มีมติผ่อนปรนเงื่อนไขให้แก่เอกชนที่ยื่นกู้ในโครงการนี้ เช่น เรื่องติดเครดิตบูโร หรือเป็น NPL หากเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 พ.ย.2551 ให้อนุโลมได้ จะทำให้เอกชนได้สิทธิ์ขอรับเงินกู้ได้ง่ายขึ้นแน่นอน และยังให้การบ้านกับภาคเอกชน ไปสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่วงเงินลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ว่า มีจำนวนเท่าใดที่ขาดสภาพคล่อง และต้องการเงินกู้ เพื่อจัดทำตัวเลขเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขยายความช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป

***วอนเสื้อแดงหยุดนัดชุมนุม******
ด้าน นางสุวรรณา เดชรุ่งเรือง เหรัญญิก สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม มีรายใหญ่ที่วงเงินลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก หรือราว 30 ราย รวมวงเงินเกือบ 6 พันล้านบาท เพราะแต่ละรายต้องการเงินกู้100-200 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาธุรกิจต้องขาดสภาพคล่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ต้องทนแบกภาระดอกเบี้ย MLR ซึ่งเป็นอัตราเงินกู้ทั่วไป ต่างจากโครงการนี้ที่รัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ย ทำให้เสียอัตราดอกเบี้ยที่ MLR-3

“ที่ผ่านมา หลายโรงแรมมีอัตราเข้าพักนักท่องเที่ยวน้อยมาก บางแห่งเหลือไม่ถึง 20% และทุกครั้งที่มีข่าวนัดชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ก็จะมีนักท่องเที่ยวขอยกเลิกบุ๊กกิ้ง ไฮซีซันปีนี้ ยอดจองล่วงหน้าเริ่มดีขึ้น จึงต้องการขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง ว่า อย่าชุมนุมกันอีกเลย ประเทศเสียหาย ควรหาวิธีอื่นจะดีกว่า” นางสุวรรณา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น