“นิด้า” ประเมินผลกระทบครบรอบ 1 ปี วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ชี้ ไทยสอบตกแก้ ศก.แย่ที่สุดในเอเชีย ผลสำรวจ พบสหรัฐฯ ต้นตอปัญหามีการฟื้นตัวทาง GDP ที่แข็งแกร่งที่สุดใน G-3 แต่ภาคการเงินยังคงอ่อนแอที่สุด แนะจับตาความเสี่ยงรอบใหม่ ทั้งผลกระทบข้างเคียง จากภาวะเงินเฟ้อ การเก็งกำไร และภาวะฟองสบู่
คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) จัดเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 10 ในหัวข้อ “ครบรอบปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศใดสอบผ่านหรือตก” โดย รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School เปิดเผยว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นการล่มสลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งกระทบความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรป ต่อเนื่องไปจนถึงภาคธุรกิจที่แท้จริงทั่วโลก ที่ต้องประสบปัญหาความต้องการสินค้าลดลง การผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนลดลง ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน ภาคการส่งออกย่ำแย่ เงินเฟ้อและอัตราการเติบโตติดลบ
คณบดี NIDA Business School กล่าวว่า ทั้งนี้ จากประสิทธิภาพของมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลดีเกินคาด ทำให้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ และส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจากการประเมินว่าประเทศใดสอบผ่านหรือสอบตกในการแก้วิกฤตครั้งนี้ ทาง NIDA Business School และ SCRI ได้แบ่งประเทศที่พบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศ G-3 ที่มีวิกฤตสถาบันการเงิน ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น กับกลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทยซึ่งไม่มีปัญหาด้านสถาบันการเงินแต่พึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก
สำหรับกลุ่มแรก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น นั้น จากการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่ญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวที่แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ถ้าพิจารณาในด้านการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินพบว่า สถาบันการเงินของญี่ปุ่นนั้นเข้มแข็งที่สุดโดยได้ทำการเพิ่มทุน 3 เท่าของความเสียหายในการลงทุนในตราสาร Sub-prime ในขณะที่สหรัฐฯและยุโรปนั้นยังเพิ่มทุนสถาบันการเงินไม่เท่ากับความเสียหายที่เกิดจากการลงทุนในตราสาร Sub-Prime อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่าเยอรมนีและฝรั่งเศส ทำได้ดีกว่าสหรัฐฯ ในด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ประเทศในเอเชียในกลุ่มที่สองซึ่งพบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจซึ่งในปัจจุบันนี้ ชาติเอเชียนั้นได้พ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเชิงเทคนิคหมดแล้ว แต่เมื่อประเมินความเข้มแข็งของการฟื้นตัวในลักษณะเปรียบเทียบกัน พบว่า สิงคโปร์มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในกลุ่มที่สองรวมในขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่งเป็นอันดับสองในกลุ่มที่สองรองจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไต้หวัน แม้มีการฟื้นตัวทาง GDP ที่แข็งแกร่งเท่ากับสิงคโปร์แต่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแออ ยู่ สำหรับประเทศเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์นั้นยังคงมีการฟื้นตัวทาง GDP ที่ไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเอเชียในกลุ่มที่ 2 ด้วยกันแต่มีการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในระดับสูง โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางการบริโภคภายในประเทศที่สูงที่สุดในกลุ่มที่สอง สะท้อนถึงการ Re-balance growth และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
“ประเทศในกลุ่มที่สองที่มีระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในกลุ่มคือประเทศไทยซึ่งไม่เพียงแต่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดเท่านั้นหากแต่การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศยังแย่ที่สุดในกลุ่มที่สอง ในขณะที่ มาเลเซีย แม้ว่าจะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีเท่ากับประเทศอื่นรวมทั้งการบริโภคภายในประเทศด้วยแต่ตัวเลขของมาเลเซียในสองด้านนี้ยังดีกว่าประเทศไทย” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลช่วยให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง (Change) ในหลายภาคส่วน แต่สำหรับความเห็นของ SCRI ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงยังคงไม่เท่ากับความคาดหวังหรือความตั้งใจของผู้ดำเนินนโยบาย (Policy ma ker) ดังนั้น จึงประเมินว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ จึงยังคงไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ
สำหรับเรื่องที่จะเป็นประเด็นสำคัญในช่วง 1 ปีจากนี้ไป คือ การแยกตัวกันของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมถึงวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจคาดว่าจะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่า ประเทศในเอเชียมีโอกาสมากที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศในสหรัฐฯและยุโรป เนื่องจากภาคสถาบันการเงินมีความพร้อมในการกลับมาปล่อยสินเชื่อได้เร็วกว่า เนื่องจากเกิดความเสียหายไม่มาก และที่สำคัญประเทศในเอเชียสามารถระดมทุนในประเทศได้แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นก็ตาม
ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่า ทุกประเทศทั่วโลกคงต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 1 ปีข้างหน้า โดยเร็วที่สุดน่าจะเป็นไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ทั้งนี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะเริ่มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าวัตถุดิบเริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว โดยเฉพาะวัตถุดิบหลัก เช่น น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตร ในขณะเดียวกัน คาดว่า ปริมาณเงินที่อยู่ในระบบเป็นจำนวนมากจะเริ่มส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายจะส่งผลให้ระดับของความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจลดลง โดยมีความเสี่ยงที่จะหันกลับมาดูแลเศรษฐกิจของประเทศตนเองมากขึ้น โดยปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ คือ การค้าระหว่างประเทศที่ลดลง