"คลัง" เตรียมชงเพิ่มโครงการใช้เงินไทยเข้มแข็ง 1 แสนล้าน เข้าที่ประชุม ครม.วันนี้ เน้นเพิ่มรายได้ชาวไร่-ชาวนา โดยจัดสรรให้กว่า 4 หมื่นล้าน ผ่านการประกันราคาพืชผล พร้อมแจกงบพัฒนารายจังหวัดอีกกว่า 1 หมื่นล้าน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 15 กันยายน 2552 (วันนี้) กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการลงทุนวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากโครงการไทยเข้มแข็ง ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.ก.กำหนดกรอบการกู้ยืมไว้ว่าจะใช้ในการชดเชยเงินคงคลังไม่เกิน 2 แสนล้านบาท และเพื่อใช้ในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อมีเงินเหลือจากการชดเชยเงินคงคลังจึงสามารถโอนมาใช้ในส่วนของการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งได้
ทั้งนี้ กรอบการลงทุนวงเงิน 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การเพิ่มรายได้เกษตรการ ภายใต้โครงการประกันราคาพืชผลเกษตร 4 หมื่นล้านบาท ลงทุนในด้านที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง 3 พันล้านบาท และงบพัฒนาจังหวัด 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับโครงการลงทุนใน 2 แสนล้านบาทแรกที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่ จึงต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม ทำให้ปลายปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 จะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งรวม 3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 85%
“ยอมรับว่า ที่ผ่านมา นักวิชาการมักมองแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลไม่ได้จัดโครงการเพื่อเกษตรกร ในครั้งนี้เลยให้ผ่านโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกมาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจรวม”
ด้านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การกู้เงินเพื่อใช้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งลอตแรกวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนั้น สบน.ได้เรียกสถาบันการเงินที่มีในประเทศไทยกว่า 30 แห่ง เข้าร่วมเสนอเงื่อนไข โดยกำหนดให้แต่ละแห่งเสนอขั้นต่ำ 5 พันล้านบาท เป็นการกู้แบบเทอมโลน ระยะเวลา 1-2 ปีนั้น น่าจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายได้ปลายเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้เข้ามาและได้รับการคัดเลือกประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ 4 แห่ง คือ ธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย โดยเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยราว 1.50% ต่อปี เฉลี่ยให้กู้รายละ 7-8 พันล้านบาท