xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ ชี้ผลกระทบเชิงสังคมตอใหญ่ถ่วงแผนกระตุ้น ศก.ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ชี้ ผลกระทบปัจจัยคุณภาพสังคม-ทรัพยากรมนุษย์ ยังเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อสอดรับกับแผนการลงทุนไทยเข้มแข็ง เผย Q2/52 อัตราว่างงานดีขึ้น แต่มีปัญหาแรงงานคุณภาพ เด็กจบใหม่ยังเตะฝุ่นหน้าบ้าน ห่วงพฤติกรรมการใช้สินค้าเทคโนโลยีฟุ่มเฟือยมีอัตราสูงขึ้นสวนทาง ศก.ที่ยังไม่ขยายตัว รวมทั้งปัญหาของเยาชนที่มีค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ยาเสพติด และอาชญากรรม

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจเชิงสังคมไทย ขณะนี้ พบว่าอัตราการจ้างงานของคนไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 (เมษายน-มิถุนายน) เพิ่มขึ้น 2.3% ส่งผลให้อัตราการว่างงานที่คาดการณ์ไว้ในช่วงไตรมาสแรกว่าจะสูงถึง 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 6.7 แสนคน

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ กังวลปัญหาเรื่องแรงงานที่มีคุณภาพ และผู้ที่จบการศึกษาใหม่ยังมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินโครงการพัฒนาการศึกษาในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือเอสพี 2) ที่มีงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค

“การที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาระบุว่าอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ (กรกฎาคม-กันยายน) จะมีผู้ว่างงานลดลงเหลือ 5.1 แสนคนถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยภาวะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลง 3.2% แต่ไปเพิ่มในภาคการเกษตรมากขึ้น”

สำหรับพฤติกรรมการใช้สินค้าประเภทเทคโนโลยีของคนไทยมีอัตราสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ขยายตัว โดยอัตราการเปลี่ยนและซื้อโทรศัพท์มือถือในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึง 6 เท่า โดยปี 2551 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 31.86 ล้านคน หรือคิดเป็น 52.8% เพิ่มขึ้น 3 ล้านคนจากปี 2547 แต่การขยายตัวของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นมีน้อยกว่ายอดขายมือถือเครื่องใหม่ที่มียอดขาย 9-10 ล้านเครื่องในปี 2551

“ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเดิมหรือซื้อเพิ่มในกลุ่มที่มีอยู่แล้ว เพราะการพัฒนาคุณสมบัติของสินค้า แฟชั่น ราคาที่ถูกลง รวมทั้งการส่งเสริมการขายและการผ่อนชำระที่กระตุ้นผู้บริโภค ซึ่งพบว่าอัตราการเปลี่ยนเครื่องอยู่ในระยะ 3 ปีเท่านั้น”

สำหรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่า ช่วงระหว่างไตรมาส 1-2 ของปี 2552 มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นจนน่าตกใจ จากที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มจาก 3,122 คนในช่วงไตรมาส 1 เพิ่มเป็น 21,119 คนในไตรมาส 2 ซึ่งการป้องกันโรคควรจะสร้างสำนึกและพฤติกรรมของผู้ป่วยให้สูงขึ้นกว่าเดิมแทนการรักษาพยาบาล ขณะที่โรคไข้เลือดออกก็มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากเช่นกันจาก 7,131 คน เป็น 21,119 คน นอกจากนั้นโรคชิคุนกุนยามีอัตราเพิ่มขึ้น 58% ในทุกภูมิภาค

ขณะที่อัตราปัญหาอาชญากรรมในภาพรวมลดลงจากนโยบาย 5 รั้ว ซึ่งเป็นการลดลงเพียงเล็กน้อย แต่กลับเพิ่มอัตราปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดในเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้นถึง 17.6% นอกจากนั้นยังพบว่า พฤติกรรมการเลียนแบบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นผลทั้งเชิงบวกและลบ เช่น กรณีเด็กที่มีพฤติกรรมปาหินใส่รถบนถนนหลวง เมื่อถูกจับกุมแล้วมักจะได้รับการลดหย่อนโทษจึงไม่เกรงกลัวการกระทำผิด ดังนั้น จึงควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดเพื่อให้เกิดความย้ำเกรง

นอกจากนี้ พฤติกรรมการดื่มสุราของเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี พบว่า มากขึ้น 21.9% จากปีก่อน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของร้านจำหน่ายสุราใกล้กับสถาบันการศึกษาจากตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,712 ร้าน

ส่วนผลวิจัยเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนกับสังคมไทย พบว่า คนไทยที่มีการศึกษาสูงจะมีความเข้าใจปัญหามากกว่าคนที่หาเช้ากินค่ำ และประชาชน 84.7% จะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปใช้รถสาธารณะในการเดินทาง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความสะดวกสบายเพียงพอ และกว่าครึ่งจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน หรือใช้หลอดไฟแบบประหยัด
กำลังโหลดความคิดเห็น