สภาพัฒน์พบคนไทยเปลี่ยน-ใช้มือถือหรูเพิ่มกว่า 3 ล้านคนในปีเดียว เชื่อ Q3 “แผนไทยเข้มแข็ง-พัฒนาการศึกษา” ลดว่างงานมากกว่า 5 แสนคน หวั่น! หวัดใหญ่ 09-ไข้เลือดออก คร่าชีวิต หลังพบอัตราสูงผิดปกติจากหลักพันถึงหลักหมื่น โบ้ยสื่อเสนอข่าวปาหินสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ
วันนี้ (4 ก.ย.) นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า จากรายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 (เม.ย.-ก.ค.) พบว่า อัตราการจ้างงานภาพรวมของคนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ทำให้ที่ประเมินในไตรมาสแรกว่า อัตราการว่างงานจะสูงขึ้นถึง 1 ล้านคนลดลงเหลือ 6.7แสนคนหรือร้อยละ 1.8 ทำให้ภาวการณ์ว่างงานในขณะนี้ไม่พบว่า วิตกมากนักหรือพ้นวิกฤติปัญหาการว่างงานไปแล้ว เนื่องจากอัตราผู้ประกันตนจากการว่างงานก็ลดลงเช่นกัน
“แต่คุณภาพของแรงงานที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาใหม่ยังมีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะในโครงการพัฒนาการศึกษาในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือเอสพี 2) งบประมาณเฉพาะการศึกษากว่า 1 แสนล้านบาท (ระยะ 3 ปี) ที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประเทศ ที่เน้นการวิจัยตามนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ใน 9 สถาบันการศึกษา เช่นการประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พบว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น”
นางสุวรรณีกล่าวว่า แม้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะออกมาระบุว่า อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค.-ส.ค. หรือไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะมีผู้ว่างงานลดลงเหลือ 5.1 แสนคนก็ตามซึ่งก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกลับพบว่าการจ้างงานลดลงร้อยละ 3.2 แต่อัตราผู้ว่างงานที่ลดลงมีการเข้าไปเพิ่มในภาคการเกษตรมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคการก่อสร้าง ภาคอิเล็กทรอนิกส์ และภาคยานยนต์
ขณะที่พบว่า พฤติกรรมการใช้สินค้าประเภทเทคโนโลยีของคนไทยกลับมีอัตราที่สูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ขยายตัว ซึ่งพบว่าอัตราการเปลี่ยนและซื้อโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือภาคครัวเรือนในปี 2543-2550 มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ปี 2551 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 31.86 ล้านคน หรือร้อยละ 52.8 หรือเพิ่มขึ้น 3 ล้านคน จากปี 2547 หรือปี 2550 ที่มีผู้ใช้ 16.54 ล้านคน และ 28.29 ล้านคน ซึ่งอัตราการขยายตัวของผู้ใช้เพิ่มขึ้นน้อยกว่ายอดขายมือถือเครื่องใหม่ที่มียอดขาย 9-10 ล้านเครื่องในปี 2551 ชี้ให้เห็นว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเดิมหรือซื้อเพิ่มในกลุ่มที่มีอยู่แล้ว เพราะการพัฒนาคุณสมบัติของสินค้า แฟชั่น ราคาที่ถูกลงรวมทั้งการส่งเสริมการขายและการผ่อนชำระที่กระตุ้นผู้บริโภค ซึ่งพบว่าอัตราการเปลี่ยนเครื่องอยู่ในระยะ 3 ปีเท่านั้น ขณะที่สินค้าเสริมความงามยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตามองเช่นกันเพราะมีผู้ร้องเรียนมากกว่า 1 พันราย ส่วนปัญหาการแยกขยะตัวเมืองประชาชนยังขาดพฤติกรรมในการแยกขยะอีกมาก
นางสุวรรณีกล่าวว่า สำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 และโรคไข้หวัดใหญ่พบว่า ในปี 2552 ระหว่างไตรมาส 1-2 อัตราการเกิดโรคสูงขึ้นจนน่าตกใจจากไตรมาส 1 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มจาก 3,122 คน เป็น 21,119 คน ซึ่งการป้องกันโรคควรจะสร้างสำนึกและพฤติกรรมของผู้ป่วยให้สูงขึ้นกว่าเดิมแทนการรักษาพยาบาล ขณะที่โรคไข้เลือดออกก็มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากเช่นกันจาก 7,131 คนเป็น 21,119 คน นอกจากนั้นโรคชิคุนกุนยา มีอัตราเพิ่มขึ้น 58% ในทุกภูมิภาค
ขณะที่อัตราปัญหาอาชญากรรมในภาพรวมที่ลดลงจากนโยบาย 5 รั้ว แต่เป็นการลดลงเพียงเล็กน้อยกลับเพิ่มอัตราปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดในเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น ถึงร้อยละ 17.6 นอกจากนั้นยังพบว่า พฤติกรรมการเลียนแบบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นผลทั้งเชิงบวกและลบ เพราะการที่เด็กสร้างพฤติกรรมการการปาหินใส่รถบนรถยนต์บนถนนหลวง เมื่อนำเสนอข่าวว่า มีการจับกุมมักจะได้รับการลดหย่อนโทษจึงไม่เกรงกลัวการกระทำผิด ดังนั้นจึงควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดเพื่อให้เกิดความย้ำเกรง
นอกจากนั้น พฤติกรรมการดื่มสุราของเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี พบว่ามากขึ้นร้อยละ 21.9 จากปีก่อนร้อยละ 15.1 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของร้านจำหน่ายสุราใกล้กับสถาบันการศึกษาจากตัวอย่างในกทม.ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,712 ร้าน
นางสุวรรณีกล่าวต่อว่า สภาพัฒน์ได้วิจัยปัญหาภาวะโลกร้อนกับสังคมไทย พบว่า คนไทยที่มีการศึกษาสูงจะมีความเข้าใจปัญหามากกว่าประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ กว่าร้อยละ 30 ยังมีความเข้าใจน้อย ที่น่าสนใจในประเด็นที่จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมพบว่า ร้อยละ 84.7 จะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปใช้รถสาธารณะเป็นหลักในการเดินทางเพราะเห็นว่า ยังไม่มีความสะดวกที่เพียงพอ และกว่าครึ่งที่จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่จะปิดไฟทุกครั้งที่ไม่มีคนอยู่ หรือใช้หลอดไฟแบบประหยัด