xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุนไทยไปนอก-ผู้ว่าฯเคาะกะลาสกัดบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกลีลาลดแรงกดดันถูกโจมตีบาทแข็ง เตรียมผ่อนคลายมาตรการให้คนไทยเพิ่มการลงทุนต่างประเทศแต่ขอเวลาสรุปแนวทางอีกครั้ง เผยไตรมาสแรกบาทแข็งค่า 4% ไตรมาส 2 เหลือ 0.06% แข็งน้อยกว่าคู่แข่ง ลั่นการดูแลเศรษฐกิจต้องให้เติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่เน้นช่วงสั้นๆ เอ็มดีตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุน เหตุสภาพคล่องการลงทุนสูง

เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทสตรีไทย กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในโอกาสวันสตรีไทย ประจำปี 2552 ผู้ว่าฯ ธปท.เห็นว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกำลังแรงงานไม่ต่างกับผู้ชาย แม้ปัจจุบันสัดส่วนผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทตำแหน่งผู้บริหารน้อย แต่หากในสายงานอาชีพผู้หญิงจะทำหน้าที่ผู้บริหารมากกว่าผู้ชาย ฉะนั้น ในการทำงานผู้หญิงควรมีการตั้งความหวังและมีมาตรการเตรียมความพร้อมให้สูงไว้กว่าปัจจุบัน และเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ พร้อมทั้งควรมีการเรียนรู้ไปกับพัฒนาการใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเองให้เพิ่มขึ้น

นางธาริษาเปิดเผยถึงกรณีที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจแนะนำให้ธปท.ทบทวนมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ดำเนินการไปในทิศทางเช่นนั้นอยู่แล้ว โดยขณะนี้ ธปท.เตรียมที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนไหลออกเพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าแม้ในช่วงที่ผ่านมาคนไทยมีเม็ดเงินลงทุนจากไทยไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐ

“ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ปรับมาตรการไปบางแล้ว แต่ไม่ได้เป็นข่าว และบางมาตรการทยอยทำ ซึ่งในครั้งนี้เราได้พิจารณาไว้หลายเรื่อง โดยคาดว่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจที่ผ่อนคลายในหลายๆ เรื่อง และขอให้รอเร็วๆ นี้จะได้เห็นกันแน่”

ในปัจจุบันแม้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าเงินของประเทศคู่ค้าก็มีการเคลื่อนไหวในการแข็งค่าเช่นกัน ฉะนั้นการแข็งค่าเงินบาทไม่สร้างปัญหาจนน่ากังวล โดยเห็นได้จากเมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่า 4% เทียบกับประเทศอินโดนีเซียแข็งค่า 16-17% เกาหลีใต้แข็งค่า 13-14% แต่เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าน้อยลงอยู่ที่ระดับ 0.06% เทียบกับประเทศอื่นๆ เฉลี่ย 2-4% อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ช่วยให้บรรเทาราคาน้ำมันแพงขึ้นในช่วงนี้ได้

สำหรับเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้เกิดจากการเกินดุลการค้าจำนวนมากจากการส่งออกลดลง แต่การนำเข้าลดลงมากกว่า แต่เชื่อว่าเมื่อใดเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้น การส่งออกและการลงทุนในประเทศจะมีมากขึ้น ทำให้การนำเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินพลิกผันได้ จึงไม่มีใครรู้ว่าค่าเงินในอนาคตจะแข็งหรืออ่อนค่า ดังนั้นผู้ส่งออกและนำเข้าต้องมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศไว้ เพื่อป้องกันตัวเองให้ได้มากที่สุด

“ทำให้เงินบาทแข็งค่าที่สำคัญมาจากเงินดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่และส่งผลให้ค่าเงินในประเทศแถบภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินอ่อนหรือแข็งค่าไปคนละทาง ทำให้คาดเดาลำบาก และในปัจจุบันมีผู้เล่นหลากหลายด้วย”

นางธาริษากล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่างอยู่ในแดนบวก อาทิ การผลิต ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การใช้จ่ายภาคเอกชน การส่งออก และการนำเข้าที่ขยายตัวมากขึ้น แม้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนยังคงติดลบอยู่ เพราะเศรษฐกิจดีมากในช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน ดังนั้น หากดูตัวเลขดังกล่าวแล้วเชื่อว่าทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนจะต่อเนื่องหรือยั่งยืนได้แค่ไหนต้องติดตามดูต่อไป

“ในช่วงวิกฤตเมื่อปี 40 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเน้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากเกินไป จึงควรให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืนกว่านี้ เพราะหากเร่งให้โตเร็วเกินกว่าที่ระบบจะรับได้จะเกิดปัญหาขึ้นได้ภายหลังได้”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่เกิดวิกฤตครั้งนี้ขึ้นมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียพยายามปรับตัวด้วยการหันมาซื้อขายสินค้ากันเองมากขึ้น แต่สุดท้ายในช่วงไตรมาส 4 ตัวเลขการส่งออกร่วงลงมาเร็วและได้รับผลกระทบขนาดใหญ่ โดยเกาหลีใต้ และไต้หวัน หดตัวถึง 30-40% ขณะที่ไทยหดตัวกว่า 20%ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วแม้แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียได้พยายามที่ส่งออกชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในการประกอบสินค้า แต่ผู้ซื้อสินค้ายังคงเป็นกลุ่มประเทศ G3 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีกำลังซื้อหด ทำให้การส่งออกสินค้าทำได้ยาก

***ตลท.หนุนมาตรการลงทุนนอก

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์ในการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศนั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรื่องการขออนุญาต และการรายงานการลงทุนให้มีความสะดวกมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจไปลงทุนผ่านกองทุนลงทุนต่างประเทศ (FIF) ซึ่งขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะมีการสัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเองอย่างไร

ทั้งนี้ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลในเรื่องเม็ดเงินลงทุนไหลออก เนื่องจาก นักลงทุนมีสภาพคล่องในการลงทุนที่สูงและเชื่อว่าเม็ดเงินคงจะไม่ไหลออกไปลงทุนทั้งหมด เพราะ ไปลงทุนในต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมในการไปลงทุนของนักลงทุน ในเรื่องความรู้ความเข้าใจในการไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งหากมีเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ก็ยังมีเม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยหากยังมียอดซื้อสุทธิถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และยังทำให้กลไกในการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเสรีมากขึ้น

“2 ปีที่ผ่านมาที่ธปท.มีการเปิดให้นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนต่างประเทศ โดยผ่านกองทุน หรือลงทุนด้วยตัวเองแต่ผ่านบล.ได้นั้น และจากการที่ธปท.จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์มากขึ้น ในเรื่องการขออนุญาต การรายงานข้อมูลการลงทุนนั้น ซึ่งไม่น่าห่วงหากมีเงินออกไป แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น” นางภัทรียากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น