xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติผวาเงินทุนไหลเข้า “อัจนา” เผยมาตรการ 30% ยังตามหลอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.คาดปี 53 ศก.โลกฟื้นตัว อาจเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญเชิงโครงสร้าง เกิดกระแสเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าเอเชีย “อัจนา” ยอมรับเข็ดพิษยาแรง มาตรการ 30% ยังตามหลอน ชี้หากควบคุมเงินทุนไหลเข้า ต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่เหวี่ยงแห เปิดช่องเพิ่มวงเงินลงทุนนอก ลดแรงกดดันค่าบาทแข็ง ด้านคลังพร้อมจับมือ ธปท.กำหนดมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและความท้าทายต่อประเทศไทย” โดยระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นคาดว่าหลังจากนี้ไปเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลกลับเข้ามาในแถบประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะเอเชีย หลังจากเคยมีความเชื่อว่าการลงทุนต้องไปลงทุนในสหรัฐฯ ยุโรป เพราะมีความเชื่อมั่นว่ามีผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงต่ำ มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส แต่จากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเห็นว่าแล้วมีความเสี่ยงเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโตสูงและผลตอบแทนดีเงินลงทุนจึงหันมาลงทุนมากขึ้น

“เชื่อว่าวิกฤตการเงินโลกที่เริ่มคลี่คลายในปี 2553 จะมีผลทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก รวมทั้งไทยมากขึ้นกว่าปีนี้ แต่คงไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2550 ซึ่งทั่วโลกมีสูงถึง 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้ไทยต้องประกาศใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ธปท.จำเป็นที่ต้องเตรียมการตั้งรับไว้”

ทั้งนี้ ภาวะเงินไหลเข้าก็เหมือนน้ำที่ทะลักเข้าประเทศ ดังนั้น จึงต้องสร้างท่อให้ไหลออกบ้าง โดยเป็นการทยอยทำ เช่น การปล่อยให้เอกชนไทยลงทุนนอกประเทศ ไม่ใช่รับอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการสร้างโอกาสให้หาผลตอบแทนนอกประเทศที่สูงกว่า ไม่ใช่แค่ได้ดอกเบี้ยต่ำ บอนด์ต่ำ หุ้นต่ำเรื่อยๆ

สำหรับแนวทางดูแลเงินทุนไหลกลับเข้ามาแล้วไม่ให้มีการไหลกลับไปอย่างรวดเร็ว ต้องสร้างภาวะแวดล้อมให้พร้อม ทั้งต้นทุนเงินลงทุนถูกลง การสร้างระบบธรรมาภิบาล การมีกฎหมาย ข้อบังคับที่เป็นธรรมเพื่อส่งเสริมตลาดทุน สร้างองค์ประกอบในตลาดทุนให้เข้มแข็งและรองรับประโยชน์จากเงินลงทุนให้คุ้มค่า เพราะหากมีปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินบาทอ่อนลง หากพื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งจะเกิดปัญหาฟองสบู่ และจะให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกคงไม่ใช่ทางออกเพราะจะสร้างปัญหาให้กับส่วนอื่นๆ อีกด้านหนึ่ง การจะดูแลให้เงินบาทแข็งค่า เพื่อให้ทรัพย์สินหรือราคาหุ้นแพงขึ้นก็เป็นอีกทางหนึ่งในการควบคุมเงินทุนไหลเข้ามากเกินไป ดังนั้น การดำเนินนโยบายอนาคตคงต้องพิจารณาตามสถานการณ์ และดูแลในช่วงบางกลุ่มที่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ หากมีความจำเป็นควรจะต้องออกมาตรการดูแลเฉพาะจุดก่อนที่จะใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ย หรือทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี จะทำให้กระทบการขยายตัวได้

นางอัจนากล่าวว่า การไหลเข้าของเงินทุน ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง ทางแก้ไขมีหลายทาง เช่น ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งปล่อยไปถึงจุดหนึ่ง เงินทุนไหลเข้าก็จะลดลง เพราะเห็นว่าค่าเงินบาทแพงเกินไป อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีนี้จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออก ส่วนจะใช้มาตรการแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินบาทแข็ง ก็จะมีปัญหาว่า ธปท.สะสมสินทรัพย์มากจนเกินไป ทำให้ราคาสินทรัพย์ของประเทศไม่ปรับตัวสูงขึ้นเพราะถูกกดไว้

ดังนั้น การออกมาตรการทั้งหมดต้องตัดสินใจ ต้องดูภาวะตอนนั้นเป็นหลัก จะใช้นโยบายดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ต้องดูว่ามีทางเลือกเฉพาะจุดหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกมาตรการเฉพาะจุด จะสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เช่น การออกมาตรการ 30% ควบคุมเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าเหมือนที่ผ่านมา

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.มีแผนส่งเสริมให้นักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยกำลังพิจารณาว่าจะขยายเพดานวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น หรือกำหนดสัดส่วนการลงทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากวงเงินที่ ธปท.กำหนดไว้สำหรับการลงทุนต่างประเทศของสถาบันการเงินวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 10 ปีข้างหน้าเมื่อทุกประเทศเพิ่มเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้มีการซื้อขายสินค้าด้วยเงินหยวนมากขึ้น จีนเริ่มมีบทบาทในประเทศภูมิภาคมากขึ้น และยอมรับว่าไทยคงหนีไม่พ้นต่อการมีเงินทุนไหลเข้า-ออก ดังนั้น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะต้องมีความผันผวนอีกมาก เนื่องจากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในตลาดประเทศจะสอดคล้องกันมากขึ้นทั้งตลาดหุ้นในสหรัฐและญี่ปุ่น เพราะมีกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นและจากปัญหาเศรษฐกิจกองทุนทางการเงินจะเหลือน้อยลง ทำให้เงินลงทุนจากกองทุนต่างๆ จะมีการลงทุนแบบผูกขาดมากขึ้น ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นลงจะไม่ได้สะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพราะเป็นการลงทุนจากการเก็งกำไร

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากการเปิดเสรีทำให้ตลาดการเงินของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ เพราะการเปิดเสรีไม่สมบูรณ์จึงทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น การเปิดเสรีของตลาดเงินต้องดำเนินการให้ประสิทธิภาพ ต้องทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงต่อการฝากเงิน และที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนเข้ามาระดมทุนจากตลาดทุนแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานนับล้านคน เพื่อดึงดูดความสนใจให้เอกชนเข้ามาระดมทุนควรทำไม่ให้ต้นทุนในการระดมทุนสูงเกินไป เพราะแนวโน้มบรรดากองทุนจะเป็นฐานสำคัญในการลงทุนของตลาดหุ้นและมีทั้งผลดีผลเสีย จึงต้องหาทางบริหารจัดการเงินทุนให้ตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น