xs
xsm
sm
md
lg

‘รอยเตอร์’ชี้ ‘ทักษิณ’ตัวถ่วง ไม่ให้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – สำนักข่าวรอยเตอร์ออกบทวิเคราะห์ ระบุแม้ไทยเผชิญวิกฤตการเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงกำลังหวนกลับสู่ประเทศไทย จนทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก ค่าเงินบาทพุ่งลิ่ว และเงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศก็ไหลเข้ามาสูงรองจากสิงคโปร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สภาพที่การเมืองไทยยังไม่นิ่ง ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของพวก “เสื้อแดง” สนับสนุน “ทักษิณ” จะเป็นตัวถ่วงรั้งไม่ให้ประเทศไทยหลุดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างรวดเร็วตลอดจนไปได้ไม่ไกล

เศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้รับความเสียหายมากมายขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้หลบหนีโทษจำคุกไปอยู่ในต่างแดน จะพยายามสร้างปัญหาท้าทายนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปอีกนานถึงแค่ไหน และการเคลื่อนไหวของเขาซึ่งหนุนหลังโดยพวกเสื้อแดงหลายพันหลายหมื่นคนผู้ออกมาประท้วงตามท้องถนน จะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคเพียงใด บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์บอก

“มันสามารถที่จะกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกขึ้นมาอีกในอนาคต” นายยูเบน ปาราคูเอลเลส นักเศรษฐศาสตร์แห่ง รอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ ให้ความเห็น “พวกลูกค้าของเรากำลังเริ่มที่จะสอบถามกันอีกแล้วเกี่ยวกับสภาพทางการเมือง”

แต่เท่าที่เป็นอยู่ในปีนี้ จวบจนถึงขณะนี้ความปั่นป่วนทางการเมืองยังคงมีผลต่อตลาดการเงินเพียงแค่เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ค่าเงินบาทกลับแข็งขึ้นมา 2.32% เมื่อเทียบกับดอลลาร์อเมริกัน นับเป็นสกุลเงินตราที่แข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย ตามหลังเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียเท่านั้น ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ไต่ขึ้น 42.3% เลี้ยวกลับมาได้จากที่หล่นลงถึง 47.6% ในปีที่แล้ว

พวกนักลงทุนต่างชาติที่เคยเป็นผู้ขายสุทธิหุ้นไทยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ กลับกลายมาเป็นผู้ซื้อสุทธิตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงกรกฎาคม

และตามตัวเลขที่รวบรวมโดย เอชเอสบีซี แบงก์ใหญ่ที่สุดของยุโรป ในช่วง 3 ปีตั้งแต่ 2006-2008 มีเงินทุนเพื่อการโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวน 25,200 ล้านดอลลาร์ เป็นรองก็เพียงสิงคโปร์ซึ่งได้ไป 35,300 ล้านดอลลาร์ แต่ทิ้งห่างอินโดนีเซียซึ่งมีเอฟดีไอเข้าไป 6,500 ล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ที่ได้เพียง 3,500 ล้านดอลลาร์

กระนั้นก็ตามที ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองยังคงสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจขนาด 260,000 ล้านดอลลาร์ของไทยในด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า ด้านการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และการท่องเที่ยว

ถึงแม้ต่างประเทศจะเข้าไปลงทุนอย่างคึกคักในตลาดหุ้นของไทย ทว่าพวกเขาส่วนใหญ่ต่างไม่ใยดีกับตลาดตราสารหนี้อันมีขนาดค่อนข้างเล็กของไทย รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังคณะทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2006 ได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนบางประการตอนช่วงปลายปี 2006 ด้วยความมุ่งหมายที่จะจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท และถึงแม้มาตรการเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ต้นปี 2008 แต่ต่างชาติก็ยังมีบทบาทในการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้เพียงแค่ 1% เท่านั้น

อันที่จริงกระทั่งในตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้หุ้นไทยปีนี้อยู่ในแนวโน้มเดียวกันกับตลาดในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ทว่าขณะที่ดัชนีหุ้นสำคัญของตลาดหุ้นในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์ เดินหน้าได้ค่อนข้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2006 โดยนับถึงตอนนี้ต่างทะยานสูงขึ้นตั้งแต่ 11.7% ไปจนถึง 100.1% ดัชนีหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับยังคงติดลบ 10.5% หากคำนวณตั้งแต่ต้นปี 2006 มาจนถึงตอนนี้

นอกจากตลาดการเงิน อุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนที่สุดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ก็คือการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ว่าจ้างแรงงานถึงราว 1.8 ล้านคน และได้รับความเสียหายจากความหวั่นผวาเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนวิกฤตการเงินระดับโลกอยู่แล้ว

ตามตัวเลขของพวกบริษัททัวร์ ยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยในปีนี้ได้ลดลงมาประมาณ 30% จากระดับ 14.1 ล้านคนในปี 2008 ทำให้รายรับจากการท่องเที่ยวจะมีส่วนในเศรษฐกิจโดยรวมเพียงประมาณ 4.7% ของจีดีพีในปีนี้ จากที่เคยได้ทำไว้ 5.9% ในปี 2008

“เมื่อมาถึงช่วงนี้ เราควรจะได้จำนวนผู้จองทัวร์ในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้สักประมาณ 60-70% แล้ว แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้เราได้มาเพียงแค่ 30% เท่านั้น” นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าว “สิ่งต่างๆ จะกระเตื้องขึ้น ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณจะยุติสิ่งที่เขากำลังทำอยู่”

ทางด้านนายกุศะ ปันยารชุน ประธานกรรมการบริษัทเวิลด์แทรเวลเซอร์วิส ก็บอกว่า เวลานี้บริษัทของเขาซึ่งรับลูกค้าระดับไฮเอนด์ ได้ลูกค้าวันประมาณ 300 คน จากในอดีตที่ได้ 1,000 – 2,000 คน

เขากล่าวด้วยว่า ตราบเท่าที่การชุมนุมประท้วงยังไม่เกิดความรุนแรงหรือต้องมีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน ก็ยังถือว่าพอจะรับกันได้

ขณะที่พวกนักเศรษฐศาสตร์มองว่า การที่การท่องเที่ยวยังไปไม่ได้ดี คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตเชื่องช้ากว่าพวกประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ในช่วงปี 2006-2008 จีดีพีไทยเติบโตโดยเฉลี่ยแค่ 4.2% ต่ำต้อยกว่าระดับ 5.6 –6.0% ซึ่งมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และอินโดนีเซียทำได้

“ผมคิดว่าการเมืองจะเป็นตัวชะลอการฟื้นตัวในประเทศไทย ตรงกันข้ามกับพวกเพื่อนๆ ในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งไม่ได้มีปัญหานี้ และดังนั้นจึงสามารถที่จะมุ่งเน้นให้ความสนับสนุนทางการคลังแก่เศรษฐกิจได้” นายปาราคูเอลเลสแห่งรอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์กล่าว

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว 3.0 – 4.5% ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 1998

“นักลงทุนยังคงวิตกเรื่องการเมืองในประเทศไทย” นายคาร์ล ราจู นักเศรษฐศาสตร์ แห่ง ฟอร์แคสต์ ในสิงคโปร์ กล่าวให้ความเห็น แต่เขาก็บอกด้วยว่า หากการชุมนุมประท้วงอยู่ในลักษณะไม่มีการใช้ความรุนแรงแบบที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์(17) ราคาของตลาดก็ได้สะท้อนปัจจัยนี้เอาไว้แล้ว และจะแทบไม่มีผลกระทบอะไรนักในระยะสั้น

ทั้งนี้ในวันจันทร์(17) หุ้นไทยหล่นฮวบลง 3.59% แต่พวกนักวิเคราะห์โทษว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอกต่างๆ โดยเฉพาะการที่วอลล์สตรีทไหลรูดจากอาการที่ไม่ค่อยดีของตลาดเซี่ยงไฮ้ แล้วเลยจุดชนวนให้เกิดการเทขายแรงทั่วเอเชีย

เวลานี้ พ.ต.ท.ทักษิณะและพวกผู้สนับสนุนเสื้อแดงของเขา ยังไม่มีท่าทีจะยุติการเคลื่อนไหว และพวกนักวิเคราะห์มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังพยายามขัดขวางไม่ให้นายอภิสิทธิ์สามารถรวบรวมดึงเอาอำนาจต่างๆ มาไว้ในมือ ด้วยความหวังว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะสร้างปัญหาจนทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ดี นายมังกร ธนสารศิลป์ ผู้บริหารของเครือสหพัฒน์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า “สิ่งที่พวกเราต้องการคือนโยบายที่มีความต่อเนื่องและบรรยากาศทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพ”
กำลังโหลดความคิดเห็น