xs
xsm
sm
md
lg

พม่าประชุม รมต.พลังงานอาเซียน ไทยดึงเอกชนร่วมจ่อลงทุนก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พม่าเปิดประเทศจัดประชุม รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน “ไทย-อาเซียน” ร่วมถกแผนสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่ ปตท.สบช่องหาทางเจรจาลงทุนศึกษาก๊าซในพม่าเพิ่ม

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 29-30 ก.ค.นี้ คณะรวมทั้งตัวแทนจากบริษัท ปตท.จำกด (มหาชน) และตัวแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน +6 (อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนค์ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้) ที่กรุงมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ทั้งนี้ ฝ่ายไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ร่างแผนปฏิบัติการของอาเซียน 2010-2015 (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation, APAEC) ซึ่งมีความร่วมมือ 7 ด้าน คือ

1.แผนงานสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ASEAN Power Grid เพื่อพัฒนาสายส่งให้กับประเทศสมาชิกที่ขาดแคลน

2.แผนงานการวางท่อก๊าซอาเซียน (Trans ASEAN Gas Pipeline ,TAGP)

3.ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

4.ความร่วมมือด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และอนุรักษ์พลังงาน โดยจะสามารถลดพลังานได้ถึง 8% ใน ค.ศ.2015

5.แผนงานใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% ในปี ค.ศ.2015

6.การวางนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน เป็นแผนปฏิบัติ 5 ปี และเพิ่มความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อน

7.แผนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อความมั่นคงโดยเน้นความปลอดภัย เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชน

**ถกตั้ง “สต๊อกสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์”

นายวรรณรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการประชุมรัฐมนอาเซียน +3 จะมีการหารือในเรื่องของพลังงานทดแทน ความมั่นคงของพลังงาน ขณะที่การลงนามจะเน้นที่เรื่องของความมั่นคงของปิโตรเคมี การช่วยเหลือเกื้อกูลประสานความมั่นคง ในการใช้พลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นฐานของความสมัครใจ และในครั้งนี้จะหารือเรื่องการจัดตั้ง “สต๊อกสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์” หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอให้จัดตั้งขึ้นในการประชุมครั้งที่แล้วในประเทศไทย ขณะที่ประเทศจีน และเกาหลีใต้ พร้อมจะช่วยเหลือไทยในเรื่องบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์สะอาด

ส่วนการประชุมอาเซียน +6 จะเน้นหารือเรื่องการผลักดันอาเซียน เป็นศูนย์กลางส่งออกพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ เนื่องจากประเทศไทย ถือว่า มีศักยภาพที่จะใช้พลังงานทดแทนในอาเซียนมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากไทยมีพืชพลังงานจำนวนมาก

**หารือทวิภาคีพม่าลงทุนก๊าซเมาะตะมะ

นายวรรณรัตน์ กล่าวอีกว่า จะมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของพม่า เพื่อขยายโอกาสในการลงทุน การสำรวจก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในอ่าวเมาะตะมะ เนื่องจากในปัจจุบันไทยก็มีการลงทุนแหล่งก๊าซในพม่า เช่น การลงทุนสำรวจขุดเจาะในแหล่ง M9

“จะมีการเจรจาเรื่องการลงทุนพลังงานในพม่า รวมทั้งเรื่องที่ญี่ปุ่น เสนอระดับการสำรองน้ำมัน 90 วัน ซึ่งกลุ่มอาเซียนจะหยิบยกมาพิจารณา เพราะเห็นว่า การสำรองน้ำมัน 90 วัน อาจจะสูงมากเกินไป โดยจะหารือว่าระดับการสำรองน้ำมันในอาเซียนควรอยู่ที่เท่าใด ทั้งนี้ ปตท.และ กฟผ. จะเดินไปร่วมประชุมคณะมนตรีด้านปิโตรเลียม ที่ ปตท.ถือเป็นสมาชิกภาคี”

**ทวิภาคีอินโดฯหาแหล่งก๊าซสำรอง

ขณะที่การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของอินโดนีเซีย จะหารือเรื่องแหล่งสำรวจปิโตรเลียม ลาทูน่า ที่ไทยและอาเซียน พร้อมจะเข้าไปร่วมลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งพบว่ามีเชื่อเพลิงที่ดี และสมบูรณ์กว่าประเทศไทย รวมทั้งการหารือเกี่ยวกับถ่านหินสะอาด

ส่วนปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี จะไม่มีการหยิบยกมาหารือ แต่จะเป็นการหารือในประเด็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และบุคลากรในเรื่องความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ เชื่อว่า จีน และญี่ปุ่น จะหยิบยกมาหารือ เนื่องจากในภูมิภาคอาเซียน มีอินโดนีเซีย และเวียดนามที่พัฒนาได้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของการลดโลกร้อน

ทั้งนี้ ในฐานะประธานอาเซียน ยังจะนำข้อเสนอที่ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน ได้ทำจดหมายถึงเลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อการส่งออก (โอเปก) เรื่องการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยเฉพาะการหารือกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ให้มีการค้าขายด้วยราคาที่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ยังรอคำตอบของกลุ่มโอเปกอยู่ โดยเฉพาะขั้นตอนและกลไก

**ปตท.หาช่องลงทุนสูบก๊าซพม่า

รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายไทยโดยเฉพาะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่จะเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการปิโตรเลียม ที่ ปตท.เป็นสมาชิกอยู่ จะหารือด้านการลงทุนในพม่าเพิ่ม จะลงพื้นที่สำรวจโครงการสำรวจปิโตรเลียม แปลง M9 ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ทางตอนใต้ห่างจากเมืองย่างกุ้ง ประมาณ 300 กิโลเมตร ในประเทศสหภาพพม่า เนื่องจากผลการเจาะหลุมประเมินผล Zawtika-3 และ Zawtika-4 ในแปลง M 9 เพิ่มเติมจากหลุมสำรวจ Zawtika-1A หลุมสำรวจ Gawthaka-1 หลุมสำรวจ Kakonna-1 และหลุมสำรวจ Zawtika-2

ทั้งนี้ พบว่า หลุม Zawtika-3 ระดับความลึกสุดท้ายที่ 2,274 เมตร พบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 8 โซน มีความหนารวม 65 เมตร โดยทำการทดสอบอัตราการไหลด้วยเทคนิค Tubing Stem Test (TST) และได้เลือกโซนที่ไม่เคยทดสอบมาก่อนเพียง 1 โซน พบว่า มีอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 26.68 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนหลุม Zawtika-4 ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหลุม Zawtika-1 A ถึงระดับความลึกสุดท้ายที่ 2,390 เมตร พบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 11 โซน มีความหนารวม 161 เมตร

โดยทำการทดสอบอัตราการไหลด้วยเทคนิค TST ทั้งสิ้น 2 โซน ผลของโซนที่ 1 มีอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 39.6 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โซนที่ 2 มีอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 31.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมอัตราการไหลของทั้ง 2 โซน สูงถึงประมาณ 71.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การพบก๊าซธรรมชาติในหลุมประเมินผล Zawtika-3 และ Zawtika-4 เป็นการพิสูจน์ความสำเร็จในการสำรวจก๊าซธรรมชาติพื้นที่ Zawtika ตามแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น