ปธ.เฟด แจงสภาคองเกรส ชี้ ศก.สหรัฐฯ เริ่มมีเสถียรภาพ มั่นใจเครื่องมือการเงินเฟด สามารถสกัดเงินเฟ้อได้ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ ศก.สหรัฐฯ ขยายตัว พร้อมเรียกร้องทีม ศก.โอบามา หยุดการแทรกแซงอำนาจคุมแบงก์พาณิชย์
นายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐ ในวันแรก ซึ่งมีขึ้นเมื่อคืนนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยเขากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมีเสถียรภาพ และเฟดได้วางแผนควบคุมเงินเฟ้อมาตั้งแต่ก่อนที่จะตัดสินใจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันกีได้สร้างความกังขาให้กับสมาชิกบางคนของคณะกรรมาธิการฯ ในเรื่องบทบาทของเฟดที่มีต่อสถาบันการเงินรายใหญ่ ซึ่งสมาชิกเหล่านี้มองว่า เฟดล้มเหลวในการแก้ปัญหาจนนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงิน
เบอร์นันกี กล่าวว่า เฟดมีเครื่องมือด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ พร้อมกับวางแผนที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเบอร์นันกี พยายามแสดงให้สภาคองเกรสเห็นว่า เขาสามารถดูดซับเม็ดเงินออกจากระบบ และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ตามจังหวะของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน เบอร์นันกีเรียกร้องให้คณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา อย่าเข้ามาแทรกแซงสิทธิอำนาจและบทบาทของเฟดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินภายในประเทศ เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังตัวและไม่กล้ากู้ยืมเงิน ซึ่งอาจทำให้ตลาดสินเชื่อไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางอย่างที่ควรจะเป็น
"จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และตลาดการเงินว่า มาตรการของเฟดแข็งแรงพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หากสิทธิอำนาจและบทบาทของเฟดถูกแทรกแซง การทำงานก็จะล่าช้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะล่าช้าไปด้วย" เบอร์นันกี กล่าวกับคณะกรรมาธิการฯ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในระหว่างการแถลงครั้งนี้ เบอร์นันกียังได้ถูกซักถามเกี่ยวกับการที่เฟดนำเงินภาษีประชาชนเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมทั้งความสามารถในการควบคุมจำนวนบ้านถูกยึดเพราะหลุดจำนอง ความสามารถในการกอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลให้อัตราการปล่อยกู้หดตัวลง และมาตรการในการควบคุมบริษัทบัตรเครดิต
ทั้งนี้ นายสเปนเซอร์ บาชัส สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความเห็นว่า เฟดทำผิดอย่างใหญ่หลวง การปล่อยให้เฟดทำหน้าที่เป็น 'supercop' ควบคุมดูแลด้านการเงิน ก็เท่ากับเปิดทางให้เฟดเข้ามาสั่นคลอนเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศ เพราะเฟดกำลังเห็นดีเห็นชอบกับการนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยเหลือสถาบันการเงิน
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เบอร์นันเก้ออกมาแถลงเพื่อปกป้องมาตรการสกัดกั้นวิกฤตการณ์การเงินที่เขาประกาศใช้ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานเฟด ซึ่งความพยายามของเบอร์นันเก้มีขึ้นในช่วงเวลาที่สภาคองเกรสกำลังอภิปรายว่าจะเปิดทางให้เบอร์นันเก้รั้งตำแหน่งประธานเฟดต่อไปอีกสมัยหรือไม่ เพราะเบอร์นันเก้จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มกราคม 2553
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า เบอร์นันกีปฏิบัติหน้าที่ประธานเฟดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลจะต้องแต่งตั้งเขาเป็นสมัยที่สอง ขณะที่นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโอบามาจะเสนอชื่อนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งทำเนียบขาว ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อจากเบอร์นันกี