บอร์ด กนง.มีมติคง ดบ.นโยบายที่ 1.25% แจงอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นภาวะ ศก.ขณะที่มุมมอง ศก.โลก มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น ส่วนการประชุม กนง.ครั้งหน้า หากมีความเสี่ยง กนง.ก็พร้อมจะลด ดบ.ลงได้
มีรายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (บอร์ด กนง.) วันนี้ ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ต่อปีต่อไปอีก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและไทยมีสัญญาณเร่งตัวขึ้น แต่ยังไม่ส่งสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายว่าต่ำสุดหรือยัง พร้อมระบุว่า กนง.จะติดตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ คือ วิกฤตการณ์การเงินโลกยังคงส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจของประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคเอเชียอ่อนตัว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การเงินระหว่างประเทศค่อยๆ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดยอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่บ้าง นอกจากนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและนโยบายกระตุ้นทางการคลังในหลายประเทศจะช่วยเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป
คณะกรรมการ ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังเริ่มส่งผลมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงผ่อนคลาย ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
“เศรษฐกิจไทยและโลกหดตัวน้อยกว่าเดิม ถ้า momentum เศรษฐกิจโลกยังมี ก็จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ คืออย่างน้อยก็เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเห็นสัญญาณขยับขึ้น ในไตรมาส 2 เครื่องชี้ดีกว่าไตรมาสแรกมาก เงินเฟ้อยังไม่มีประเด็นทั้งโลกและไทย ตอนนี้นโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยจะต่ำสุดหรือจะเร่งตัวขึ้นหรือยัง ดังนั้น การประชุม กนง.ครั้งหน้าจะดูว่าถ้ามีความเสี่ยงเศรษฐกิจที่จะต้องลดดอกเบี้ย กนง.ก็พร้อมจะลด”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 ในรายงานแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่จะเผยแพร่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 นี้ จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามเครื่องชี้วัดต่างๆ แม้จะมีกรณีไข้หวัด 2009 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าขอบเขตและความรุนแรงของปัญหาจะกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือนมิถุนายน 2552 ที่ติดลบ 4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่ากรอบของ กนง.นั้น ไม่ได้ทำให้ กนง.ตกใจกับเงินเฟ้อ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการมาตรการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ที่ขณะนี้ทางการได้ต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน ดังนั้น หากลบปัจจัยส่วนนี้ไปอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในกรอบนโยบายการเงิน จุดนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ กนง.ยังไม่ปรับดอกเบี้ย
สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังปรับเพิ่มวงเงินการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์เป็น 8 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่จำเป็นที่ ธปท.จะต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพิ่มเติม เพราะรัฐต้องนำเงินจากการออกพันธบัตรไปใช้จ่ายและเกิดการหมุนเวียนภายในประเทศอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในประเทศ แต่หากเกิดภาวะตึงตัว ธปท.ก็พร้อมอัดฉีดเข้าไป