ขณะที่สัญญาสัมปทานบริหารช่อง 3 ต่ออีก 10 ปี (2553-2563) ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯที่แต่งตั้งโดย บอร์ด บมจ.อสมท “ASTVผู้จัดการรายวัน” ขอนำเสนอ ผลสอบสัญญาเดิมที่ไม่เป็นธรรม ให้สาธารณชนได้รับรู้
ตอนที่ 1 : “สิทธิประโยชน์ อสมท ลดลง”
ตอนที่ 2 : แผนลดทอนอำนาจ “อสมท”
ตอนที่ 3 : บีอีซีหัวใสปรับโครงสร้างถือหุ้น
ตอนที่ 4 : รายได้ก้าวกระโดดแต่จ่ายคงที่
ตอนที่ 5 : แฉลูกเล่นบีอีซีใช้อุปกรณ์-เช่าที่ดิน
ตอนที่ 6 : อสมท สูญเบื้องต้น 2 พันล้าน
ตอนที่ 7 : อัตราผลตอบแทนที่ควรเป็น
ตอนที่ 8 : บีอีซีผ่องถ่ายผลประโยชน์
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่บีอีซีควรได้รับ
วิธีกำหนดอัตราอ้างอิงเริ่มต้นจากการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนแต่ละปีของบริษัท SET34 ตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2549 (กรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณอัตราผลตอบแทนอ้างอิง (2534 ถึง 2549) ใกล้เคียงกับกรอบเวลาที่ทำการศึกษาผลตอบแทนของบีอีซี (2533 ถึง 2548)) จากนั้นจึงนำอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของทุกปีที่คำนวณได้มาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาอัตราอ้างอิงในระยะยาวของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในประเทศ (ตามเอกสารแนบ 10) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า อัตราอ้างอิงถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2534 ถึง 2549 ของบริษัท SET34 จะมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 15.52 ต่อปี
ในระยะยาว อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทหนึ่งจะสูงกว่าอัตราอ้างอิงของบริษัทชั้นนำ ก็ต่อเมื่อบริษัทนั้นมีปัจจัยบวกที่สร้างความเป็นต่อให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยบวกอาจเกิดจากความสามารถของบริษัท เช่น ความสามารถในการบริหาร หรือไม่ได้เกิดจากความสามารถของบริษัท เช่น การทำธุรกิจในตลาดผูกขาดที่เกิดจากสัมปทานรัฐ
ในแง่ของบีอีซี อัตราผลตอบแทนที่สูงเกินปกติอาจเกิดจากความสามารถในการบริหารหรือเกิดจากการได้รับสัมปทานให้ทำธุรกิจในตลาดผูกขาด หากเป็นกรณีแรก อัตราผลตอบแทนที่สูงเกินปรกตินั้นควรเป็นของบีอีซี แต่ถ้าเป็นกรณีหลัง อัตราผลตอบแทนที่สูงเกินปรกติควรตกเป็นของผู้ให้สัมปทานหรือ อสมท
ในทางปฏิบัติ การจำแนกว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้เกิดอัตราผลตอบแทนที่สูงเกินปกติด้วยจำนวนเท่าไรนั้น ต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมและต้องใช้เวลาในการประมาณการ ดังนั้นคณะทำงานจึงสมมุติให้ความสามารถในการบริหารของบีอีซีมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินปกติด้วยจำนวนร้อยละ 0 ถึง 10 หากเป็นเช่นนั้น บีอีซี ควรได้รับ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราระหว่างร้อยละ 15.52 ถึง 25.52 (เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ความสามารถในการบริหารของบีอีซี มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินปรกติร้อยละ 10 บีอีซี จึงสามารถเรียกร้องอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 25.52)
อัตราผลตอบแทนจากรายได้ที่ อสมท ควรได้รับ
เนื่องจากสัญญาร่วมดำเนินกิจการเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง อสมท กับ บีอีซี เพียง 2 ฝ่าย ผลตอบแทนทั้งสิ้นที่ได้จากการทำธุรกิจจึงควรแบ่งปันกันในระหว่างคู่สัญญา ดังนั้นหากเราทราบส่วนแบ่งผลตอบแทนของบีอีซี เราก็จะทราบส่วนแบ่งผลตอบแทนของ อสมท
ส่วนแบ่งผลตอบแทนของบีอีซีคำนวณจาก อัตราผลตอบแทนจาการการลงทุนคูณด้วยจำนวนเงินลงทุน (ส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการลงทุน กับ อัตราผลตอบแทน คูณ เงินลงทุน) เมื่อนำส่วนแบ่งผลตอบแทนของบีอีซีไปลบจากกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัท ผลลัพธ์คือ ส่วนแบ่งผลตอบแทนของ อสมท (ส่วนแบ่งของ อสมท กับ กำไรสุทธิ ลบด้วย ส่วนแบ่งของบีอีซี)
ดังนั้น การประมาณอัตราผลตอบแทนที่ อสมท ควรได้รับ จึงเริ่มจากการนำอัตราผลตอบแทนที่บีอีซีควรได้รับ (ร้อยละ 15.52 ถึง 25.52) มาคูณกับจำวนเงินลงทุนถัวเฉลี่ยในระหว่างปี เมื่อทราบส่วนแบ่งผลตอบแทนของบีอีซีจึงนำส่วนแบ่งนั้นไปลบจากกำไรสุทธิของบริษัท ผลลัพธ์ คือ ส่วนแบ่งผลตอบแทนที่ควรเป็นของ อสมท (หรืออีกนัยหนึ่ง คู่สัมปทานส่วนเพิ่มที่ อสมท ควรได้รับหลังหักภาษีเงินได้) เมื่อนำค่าสัมปทานส่วนเพิ่มที่คำนวณได้ไปปรับให้เป็นจำนวนก่อนภาษี แล้วบวกกับค่าสัมปทานที่ อสมท ได้รับจริงตามสัญญา (ซึ่งเป็นจำนวนก่อนภาษีอยู่แล้ว) ผลบวกที่ได้ คือ จำนวนค่าสัมปทานทั้งสิ้นที่ อสมท ควรได้รับจากการร่วมดำเนินกิจการกับบีอีซี เมื่อนำค่าสัมปทานทั้งสิ้นไปหารด้วยรายได้ทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่าย ผลลัพธ์สุดท้ายคือ “อัตราผลตอบแทนจากรายได้ที่ อสมท ควรได้รับ” ซึ่งพบว่ามีอัตราร้อยละ 15.20 ถึง 25.73
ทั้งนี้ จากการศึกษา ตามเอกสารแนบ 11 ด้วยการแสดงการคำนวณอัตราผลตอบแทนจากรายได้ที่ อสมท ควรได้รับนับจากวันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เมื่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบีอีซีมีอัตราร้อยละ 15.52 ดังนี้
1) หาจำนวนผลตอบแทนจากการลงทุนที่บีอีซีควรได้รับ โดยนำอัตรา ผลตอบแทนจากการลงทุนที่บีอีซีควรได้รับ (ร้อยละ 15.52) คูณ ด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยระหว่างปีแต่ละปี
2) นำจำนวนผลตอบแทนจาการลงทุนที่บีอีซีควรได้รับในแต่ละปี ไปลบออกจากกำไรสุทธิของปีเดียวกัน เพื่อหากำไรสุทธิในส่วนที่ อสมท ควรได้รับหรือค่าสัมปทานที่ อสมท ควรได้รับเพิ่ม
3) เนื่องจาก อสมท เคยได้รับคาสัมปทานจากบีอีซีมาแต่เดิม ค่าสัมปทานที่ อสมท ควรรับทั้งสิ้น จึงคำนวณจากค่าสัมปทานที่ได้รับจริง บวกกับค่าสัมปทานที่ควรได้รับเพิ่ม
4) นำค่าสัมปทานที่ อสมท ควรได้รับทั้งสิ้น ไปหาร รายได้รวม จะได้อัตราผลตอบแทนจากรายได้ที่ อสมท ควรได้รับ
ทั้งนี้ ผลจากการคำนวณตามที่ได้มีการวางกรอบวิธีการคำนวณไว้ตามเอกสารแนบ 11 ทั้งหมด ทำให้สามารถสรุปได้ว่า หากบีอีซี เป็นบริษัทชั้นนำในประเทศไทยและไม่มีปัจจัยบวกที่เหนือกว่าบริษัทชั้นนำอื่น ในระหว่างปี 2533 ถึง 2548 บีอีซีควรได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 15.52 ต่อปี หรือเท่ากับ 2,871 ล้านบาท ในขณะที่ อสมท ควรได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 25.73 จากรายได้หรือเท่ากับ 6,483 ล้านบาท
แต่ภายใต้ข้อสมมติที่ว่า บีอีซี มีปัจจัยบวกภายใน (การบริหารงานที่เป็นเลิศ) ที่ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของ บีอีซี สูงกว่า อัตราตามอ้างอิงด้วยจำนวนร้อยละ 10 ในระหว่างปี 2533 ถึง 2548 บีอีซี ควรได้รับ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา ร้อยละ 25.52 ต่อปี หรือเท่ากับ 4,720 ล้านบาท ในขณะที่ อสมท ควรได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 15.20 จากรายได้หรือเท่ากับ 3,830 ล้านบาท
จากข้อมูลในเอกสารแนบ 11 และ 12 เป็นที่น่าสังเกตุว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบีอีซี ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2548 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 46.77 ซึ่งสูงกว่าอัตราอ้างอิงถึงจำนวนร้อยละ 31.25 อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราอ้างอิงนี้ หากเกิดจากความสามารถในการบริหารของบีอีซี จำนวนร้อยละ 10 (ทำให้บีอีซีมีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 25.52) อัตราผลตอบแทนส่วนที่เหลือจำนวนร้อยละ 21.25 ก็ควรเกิดจากการทำธุรกิจในตลาดผูกขาดหรือการได้รับสัมปทาน
สรุปว่า อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราอ้างอิงจำนวนร้อยละ 21.25 ถึง 31.25 (จำนวน 2,405 ล้านบาท ถึง 4,255 ล้านบาท ตามเอกสารแนบ 11 และ 12) ที่บีอีซีได้รับตลอดระยะเวลา 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2548 น่าจะเกิดจากการโอนถ่ายผลประโยชน์ส่วนที่ อสมท ควรได้รับ มาเป็นของบีอีซี โดยอาศัยสัญญาร่วมดำเนินกิจการที่ไม่เป็นธรรมต่อ อสมท
ข้อสรุปข้างต้น ได้มาจากการเก็บข้อมูลรายได้ของบีอีซีเพียงบริษัทเดียว หากการศึกษานี้ครอบคลุมข้อมูลรายได้ที่กระจายอยู่ในงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้อง จะพบว่า บีอีซี รังสิโรตม์ และนิวเวิลด์ ได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราอ้างอิงเป็นจำนวนร้อยละ 30.94 ถึง 40.94 หรือเป็นเงินจำนวน 5,230 ล้านบาท ถึง 8,696 ล้านบาท (ตามเอกสารแนบ 13 และ 14) นั่นหมายความว่า ผลประโยชน์ของ อสมท ที่ถูกถ่ายโอนไปให้บีอีซีมีจำนวนมากถึง 7,290 ล้านบาท ถึง 12,129 ล้านบาท (ตามเอกสารแนบ 13 และ 14) หรืออัตราร้อยละ 17.26 ถึง 27.84 จากรายได้ของ 3 บริษัทรวมกัน ตามเอกสารแนบ 13 และ 14)
ข้อสังเกตอื่นที่อาจช่วยยืนยันถึงความไม่เป็นธรรมของเงื่อนไขในสัญญาร่วมดำเนินกิจการระหว่าง อสมท กับ บีอีซี มีดังนี้
1) อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนและอัตราเงินปันผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยของบีอีซี ตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2548 กับร้อยละ 46.77 ต่อปีและร้อยละ 34.35 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของอัตราอ้างอิง สะท้อนให้เห็นว่า บีอีซี มีกำไรสุทธิที่สูงเกินปรกติประมาณ 4,255 ล้านบาท (ตามเอกสารแนบ 11)
2) บีอีซี มีกำไรสุทธิตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 รวมทั้งสิ้นประมาณ 7,125 ล้านบาท (ตามเอกสารแนบ 11) หรือคิดเป็น 11.7 เท่า ของค่าตอบแทนคงที่จำนวน 609 ล้านบาท ที่ อสมท ได้รับสำหรับระยะเวลาเดียวกัน
(อ่านต่อวันพรุ่งนี้)
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- “สาทิตย์”ฟันธงบีอีซีฯต้องจ่ายเพิ่ม
- เปิดผลศึกษาข่าวเศรษฐกิจ ช่อง3 ไม่คุ้มค่าฯ
- 'ประวิทย์'แข็งข้อสัญญาช่อง 3 “สาทิตย์”ไม่การันตีต่ออัตโนมัติ
- เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 “บีอีซีเวิลด์” ขี่คอ “อสมท”
- บอร์ดฯ ตีกรอบถกช่อง 3 ลุยสอบสัญญา-เพิ่มค่าต๋ง
- จี้ปลดแอกสัญญาช่อง 3 บอร์ด อสมท ลั่นเพิ่มค่าต๋ง
- ไอ้โม่งบีบบอร์ด“อสมท" เลิกรื้อสัญญาช่อง 3
- ฮุบ “ช่อง 3” สิบปี จ่ายแค่หลักพันล้าน “อสมท” ตั้ง กก.ศึกษาสัญญา
- ช่อง 3 เล่นแง่เลี่ยง พ.ร.บ. ''อสมท''ตั้ง กก.ทำตามกฎ
- แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน