xs
xsm
sm
md
lg

คาดที่ประชุม กนง.ตรึง ดบ.ที่ 1.25% กสิกรฯ เชื่อ ศก.ผ่านจุดต่ำสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาดที่ประชุม กนง.วันที่ 15 ก.ค.นี้ ตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% ก่อนปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มั่นใจ ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว พร้อมคาด จีดีพี ทั้งปีหดตัว 3.5-5.0%

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เผยรายงานทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2552 โดยประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 15 กรกฎาคม 2552 นี้ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% ขณะที่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี จากแรงกดดันของระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อช่วงปลายปี อาจทำให้ กนง.ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนช่วงปลายปี

โดยระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้หลุดกรอบของทาง ธปท.ที่กำหนดที่ 0-3.5% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ยังไม่ใช่แรงกดดันให้ กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มการหดตัวลงจะเป็นเพียงแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ ภาพรวมตลาดการเงิน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกมากนัก เนื่องจากมองว่าปัจจัยที่กำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างสูญเปล่า กนง.จึงยังคงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ท่ามกลางสถานการณ์ด้านตลาดการเงิน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินว่า หลัง กนง.ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการลดลงในระดับใกล้จุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว และมองแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี กนง. อาจตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนช่วงปลายปี เนื่องจากภาพรวมสภาพคล่องในตลาดการเงิน เริ่มมีความตึงตัวมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาล ออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.เพื่อเตรียมการกู้เงินจากตลาดในประเทศ มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งได้ส่งผลให้ระดับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ

อีกทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ไม่มีผลต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยในตลาด ช่วงเศรษฐกิจยังคงผันผวนสูง ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มมีแรงส่งมากขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ จากในปัจจุบัน SCRI ได้ใช้สมมติฐานระดับราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ยทั้งปี 2552 ที่ 58.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีการปรับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถ้าระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวเร่งขึ้นในช่วงปลายปี ตามการคาดการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับราคาสินค้าอาหารที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

โดยที่ SCRI ประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2552 จะลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.7% ถึง 0.2% โดยระดับอัตราเงินเฟ้อในครึ่งหลังปี 2552 จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2552

โดยในเบื้องต้นแล้วจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเตรียมต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลออกไปอีกจนถึงช่วงต้นปี 2553 ส่งผลให้ SCRI คาดการณ์แนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ มีโอกาสสูงที่จะเป็นการเลื่อนระยะเวลาไปจนถึงในช่วงปลาย Q3 ถึงช่วงต้น Q4 ปี 2552 จากที่ในเบื้องต้นได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2552

สรุปแล้ว SCRI ได้ประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2552 จะลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.7% ถึง 0.2% ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการณ์ลง จากระดับประมาณการณ์ในช่วงก่อนหน้า ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2552 จะอยู่ที่ระดับ -0.5% ถึง 0.5%

ขณะที่ในด้านของระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน SCRI ประเมินแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มสูงที่การเคลื่อนไหวจะเป็นการทรงตัวติดลบในระยะสั้นๆ จนถึงในช่วง Q3 ปี 2552 เท่านั้น

หลังจากนั้น แนวโน้มน่าจะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยที่ SCRI ได้ปรับลดคาดการณ์ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 ลงในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าโดยเฉลี่ยในปี 2552 ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.25% ถึง 0.75% ชะลอตัวจากในปี 2551 ที่ระดับ 2.4%

อย่างไรก็ตาม ในภาพโดยรวมของการคาดการณ์ทั้งในด้านของระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และพื้นฐาน ต้องถือได้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เนื่องจากสมมุติฐานในด้านของการต่ออายุนโยบายลดค่าครองชีพของทางรัฐบาลยังคงขาดความชัดเจน

ทั้งนี้ จากปัจจัยในหลายๆส่วนอาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญ ที่อาจจะส่งผลต่อทิศทางระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี ให้มีปรับเพิ่มขึ้นก่อนช่วงปลายปี 2552

**กสิกรฯ คาด ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2552 จะหดตัวที่ 3.5-5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 3.5-6.0% โดยกรอบล่างของประมาณการอยู่ภายใต้สมมติฐานกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจโลกอาจยังคงฟื้นตัวได้ล่าช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของรัฐบาล

ขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัว 1.7-2.1% การลงทุนหดตัว 9-10% การส่งออกหดตัว 14.5-19% การนำเข้าหดตัว 23.5-28.5% และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาที่ 16,000-16,500 ล้านดอลลาร์

จากข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุดที่ ธปท.รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2552 ยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่อาจเป็นอัตราชะลอจากไตรมาส 1 ปี 2552 โดยคาดว่าการบริโภคของภาครัฐจะขยายตัวสูง เนื่องจากรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ภายใต้งบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 57%

ขณะที่ การบริโภคของภาคเอกชนอาจจะหดตัวชะลอลง เนื่องจากประชาชนในหลายกลุ่มได้รับผลบวกจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล แต่ในด้านการลงทุนและการส่งออกสินค้าและบริการอาจยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จึงคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2552 อาจจะหดตัวประมาณ 5.6% แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ แต่การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีส่วนอย่างมากในการดึงตัวเลขจีดีพีให้หดตัวชะลอลง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก คาดว่า จะหดตัว 6.3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังวิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินจากดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน-สิงหาคม 2552) โดยพบว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกนั้น เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 19% เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ขึ้นมาที่ระดับ 65% ในเดือนพฤษภาคม 2552 ขณะที่โอกาสความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในระยะ 3 เดือนข้างหน้ามีระดับเฉลี่ยประมาณ 63%

ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสของการฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร จากสภาวะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2552 จะหดตัว 4.2-5% และไตรมาส 4 ปี 2552 คาดว่าจะหดตัว 2.3% ถึงขยายตัว 2.9% โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ รัฐบาลมีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หลังมี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล มีแนวโน้มช่วงเดือนที่เหลือ จะเก็บได้สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ

นอกจากนี้ รัฐบาลน่าจะทยอยเบิกจ่ายงบกลางปีส่วนที่เหลือในไตรมาส 3 ปี 2552 และเริ่มมีโครงการลงทุนภายใต้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวนหนึ่งในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ความกังวลที่ลดน้อยลงต่อการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล ตัวเลขการว่างงานที่น้อยกว่าที่คาด และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังอยู่ภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอนหลายด้านทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สถานการณ์การเมืองภายในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ หรือความไม่สงบในไนจีเรีย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง ภาคการส่งออกอาจได้รับแรงกดดันจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น