ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ด อสมท ตั้งการ์ดป้องผลประโยชน์ อสมท เต็มที่ ลั่นรับไม่ได้กับอัตราค่าตอบแทนที่ บีอีซีเวิลด์ เสนอมาแค่หลักไม่กี่พันล้านบาท แต่จะเอาสัญญาบริหารช่อง 3 ต่ออีก 10 ปี ตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 12 คน ศึกษารายละเอียดสัญญา หาจุดบกพร่องหวั่นเสียเชิง ด้าน “สาทิตย์” รับยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลรายละเอียด
แหล่งข่าวจากวงการสื่อ กล่าวว่า การพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในการยื่นเรื่องมายังบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการขอต่อสัญญาสัมปทานการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จากเดิมจะหมดอายุสัญญาในปี 2553 ออกไปอีก10 ปี เป็นหมดสัญญาภายในปี 2563 นั้น ยังไม่มีข้อสรุปอะไรเกิดขึ้นจากทางคณะกรรมการบริหาร อสมท (บอร์ด อสมท)
เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อ อสมท ในช่วงจังหวะที่ธุรกิจทางด้านสื่อทีวีมีการแข่งขันค่อนข้างสูงจากผู้ประกอบการหลายราย รวมทั้งยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ของไทยอีกด้วย
นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ข้อเสนอที่ทาง บีอีซี เวิลด์ เสนอมาให้ทาง อสมท นั้น จะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดทั้งแง่ของสัญญา ความได้เปรียบเสียเปรียบ ความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ และข้อเสนอทางด้านค่าตอบแทนในการรับสัมปทานต่ออีก 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะถ้าหากมีการทำสัญญากันไปเรียบร้อยแล้วจะมาแก้ไขในภายหลังก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผ่านมาในสัญญาเดิมที่ใช้กันอยู่นี้ก็น่าที่จะถือเป็นบทเรียนที่ดีได้ว่า อสมท ต้องเสียเปรียบ บีอีซีเวิลด์และเสียหายมหาศาลแค่ไหน
**จ่ายไม่กี่พันล้านหวังฮุบ 10 ปี
โดยเฉพาะค่าตอบแทนสัมปทาน ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า บีอีซีเวิลด์ เสนอค่าตอบแทนมาให้ อสมท แค่ไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทางบอร์ด อสมท รับไม่ได้ เพราะเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลา 10 ปี ที่ทางบีอีซีเวิลด์ จะได้บริหารและแสวงหาผลประโยชน์ได้จากช่อง 3 ที่มีมากมาย
ในความเห็นของบอร์ด อสมท มองว่า อย่างน้อยที่สุดแล้ว ค่าตอบแทนควรจะมากกว่าที่เสนอมา และต้องการทราบว่า บีอีซีเวิลด์ เอาเกณฑ์อะไรมาพิจารณาถึงได้กำหนดตัวเลขนั้นเสนอมาให้อสมท หรืออย่างน้อยก็ให้เอาค่าตอบแทนที่ ทรูวิชั่นส์ จ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท ประมาณ 650 ล้านบาทต่อปี เป็นเกณฑ์พิจารณาค่าตอบแทน
นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนของบอร์ด อสมท เอง ก็มีความคิดว่าค่าตอบแทนน่าจะนำเอารูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์มาร่วมพิจารณาควบคู่กันไปด้วย เพราะจะได้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนตัวเลขจะเป็นเท่าใดนั้นยังไม่สรุป แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่ต่ำกว่า 6.5% อีกทั้งบอร์ด อสมท ต้องการให้เกิดความรอบคอบด้วยว่ารายได้ที่เกิดกับบีอีซีเวิลด์นั้นหมายถึงอะไรบ้าง ที่จะต้องมีผลนำมารวมเป็นรายได้ที่จะต้องชำระให้กับ อสมท ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่มีการเจรจาเป็นทางการระหว่าง อสมท กับ บีอีซีเวิลด์ เป็นเพียงการการรับข้อเสนอเท่านั้น ซึ่งคนวงในที่รู้ดีได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า ตัวเลขที่บีอีซีเวิลด์ เสนอมาหากเฉลี่ยเป็นรายปีแล้วแทบจะทำให้ อสมท เสียเปรียบอย่างมาก แม้ว่าจะสูงกว่าในสัญญาเดิมก็ตาม แต่ก็ไม่มากนัก เพราะลองเทียบจากตัวเลขรายได้แต่ละปีที่ บีอีซีเวิลด์ได้เฉลี่ยประมาณไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทต่อปี แต่จ่ายแค่หลักไม่กี่พันล้านบาท ทางบีอีซีเวิลด์ จะได้เงินเข้ากระเป๋ามหาศาล
“ลองคิดกันง่ายๆ แบบมีเหตุผล เช่น อัตราค่าโฆษณารายการไพรม์ไทม์ เช่นรายการข่าว หรือละครหลังข่าวของช่อง 3 นั้น อย่างต่ำๆ ก็ 2-4 แสนบาทต่อนาทีแล้ว ส่วนอัตราค่าโฆษณาที่ไม่ใช่ไพรม์ไทม์ อย่างน้อยที่สุดก็หลักหมื่นบาทและใน1วัน มีโฆษณาตั้งกี่นาที รายได้ตรงนี้มากมายมหาศาล”
สำหรับในสัญญาสัมปทานเดิม ตัวเลขที่บีอีซีเวิลด์ จ่ายแบบตายตัวรายปีให้กับ อสมท ช่วงปี2533 จำนวน 17,685,130.77 บาท, ส่วนช่วงปี 2534-2542 บีอีซีเวิลด์ ชำระปีละ23,580,000.00 บาท, ปี 2543 ชำระ 40,192,369.23 บาท, ปี 2545 ชำระ 54,467,500.00 บาท, ปี 2546 ชำระ 59,792,500.00 บาท, ปี 2547 ชำระ 65,385,000.00 บาท, ปี 2548 ชำระ 110,255,000.00 บาท, ปี 2549 ชำระ 129,420,000.00 บาท, ปี 2550 ชำระ 135,907,500.00 บาท, ปี 2551 ชำระ 142,695,000.00 บาท, ปี 2552 ชำระ 149,825,000.00 บาท และปี 2553 ชำระ 37,907,500.00 บาท
“ค่าตอบแทนที่บีอีซีเวิลด์ชำระให้กับ อสมท ในสัญญาใหม่ในแต่ละปี อย่างน้อยก็น่าจะต้องมากกว่าอัตราชำระดังกล่าวข้างต้น เพราะในอนาคต รายได้ของบีอีซีเวิลด์ ก็จะต้องมากขึ้นทุกปี เพราะค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งการหารายได้เพิ่มจากการต่อยอดทางธุรกิจของบีอีซีเวิลด์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมาก” แหล่งข่าวกล่าวให้ความเห็น
**ตั้งคณะ กก.12 คนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน
ทั้งนี้ ทางบอร์ด อสมท ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 13 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวน 12 คน ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนจากสำนักงานกฤษฎีกา ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน และตัวแทนจาก อสมท อีก 2 คน
คณะกรรมการชุดนี้ จะต้องทำการศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอของบีอีซีเวิลด์ทุกประการว่าเป็นอย่างไร มีอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม รวมทั้งจะต้องทำการศึกษาเพื่อเสนอข้อเสนอต่างๆออกมาให้กับบีอีซีเวิลด์ด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ฝ่ายรับข้อเสนอจากทางเอกชนอย่างเดียวเท่านั้น
**“สาทิตย์” รับยังไร้ข้อมูล
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดของกรณีการที่เอกชน คือ บีอีซีเวิลด์ ขอต่อสัญญาบริหารช่อง 3 กับทาง อสมท ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการหาข้อมูล และรายละเอียดทั้งหมดมาเพื่อทำการศึกษาก่อน ซึ่งยังไม่สามารถตอบเวลานี้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ขอเวลาอีกสักพัก