จับตา บอร์ด รฟม.ตัดสินใจสรุป ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 1 วันนี้ หลังกลุ่ม ช.การช่าง ยอมหั่นราคาลง 100 ล้านบาท ลงเหลือ 14,842 ล้านบาท พร้อมเสนอขอเปิดราคาสัญญา 2 ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้
นายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงกระแสข่าวการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับผลการเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 1 กับกลุ่ม CKTC Joint Venture (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)) หรือ CK และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด สัญญาที่ 1 ซึ่งคาดว่า จะมีข้อสรุปได้ภายในวันนี้
นายเยี่ยมชาย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.วันนี้ โดยมี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน จะพิจารณาประเด็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในสัญญาที่ 1 ซึ่งกลุ่ม CKTC Joint Venture เสนอลดราคาเหลือ 14,842 ล้านบาท จากเดิม 14,965 ล้านบาท พร้อมทั้งเสนอขอเปิดข้อเสนอราคาสัญญา 2 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2552
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาก่อสร้างสัญญาที่ 1 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่มีนายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน ได้เชิญกลุ่ม CKTC Joint Venture [บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด มาเจรจาเพื่อต่อรองลดค่าก่อสร้าง โดยสรุปว่ากลุ่ม CKTC ยอมลดเหลือ 14,842 ล้านบาท จากเดิม 14,965 ล้านบาท และคณะอนุกรรมการได้เห็นชอบอัตราดังกล่าวแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า กลุ่ม ช.การช่าง ยอมลดราคาค่าก่อสร้างลงเหลือ 14,842 ล้านบาท เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เลยยอมลดราคาลงมาในอัตราดังกล่าว โดยเป็นการลดในภาพรวม ไม่ใช่ลดรายการใดรายการหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งอนุกรรมการก็เห็นด้วย เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เคยใช้เจรจากันมาก่อน
สำหรับสัญญาก่อสร้างที่ 2 คือ โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก จากสถานีสะพานพระนั่งกล้า-สถานีคลองบางไผ่ และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งผู้รับเหมาที่ผ่านการพิจารณาจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (JICA) ทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย 1.CKTC Joint Venter 2.ITON Joint Venter [ ITD , บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอร์เรชั่น, บริษัท นวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR] 3. บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
ทั้งนี้ รฟม.จะไม่สามารถลดค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ให้เหลือแค่ 13,000 ล้านบาท ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต้องการ เพราะเป็นกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติ แต่มั่นใจว่า เมื่อรวมทั้ง 3 สัญญาแล้วจะไม่เกินรอบวงเงิน 36,550 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าบอร์ด และรฟม.จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ เพราะวงเงินก่อสร้างนี้เป็นเพียงเพดานขั้นสูงเท่านั้น พอลงมือทำจริงๆ อาจไม่ถึง
เป็นที่น่าสังเกตุว่า นายสุพจน์ ได้เคยออกมาระบุว่า หากกลุ่ม CKTC ยืนยันที่ราคาเดิมคือ 14,965 ล้านบาท รฟม.คงต้องยอมตามนั้น เพราะก่อนหน้านี้บอร์ด ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วว่าราคาดังกล่าวมีความเหมาะสม จึงมีมติเห็นชอบอีกทั้งสัญญาที่ 1 เป็นงานยากที่สุดใน 3 สัญญาเพราะต้องก่อสร้างบนถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ซึ่งมีพื้นที่หน้างานแคบ และการจราจรหนาแน่น อีกทั้งโครงสร้างจากสถานบางซื่อไปสถานีเตาปูน มีความสูงและชันมากจึงต้องใช้เทคนิคก่อสร้างและวัสดุแบบพิเศษ
ส่วนสัญญาที่ 2 กับ 3 เป็นงานง่ายกว่า โดยเฉพาะสัญญา 3 ที่เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่แล้ว ไม่ต้องเบียดพื้นผิวจราจร และค่าก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาจะต่ำกว่าสัญญาที่ 1 ประมาณสัญญาละ 800-1,000 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 2 ครม.ชุดก่อนมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินที่ 12,600 ล้านบาทส่วนสัญญาที่ 3 เห็นชอบกรอบวงเงิน 5,900ล้านบาท
ประเด็นสำคัญ คือ ที่ปรึกษาโครงการฯของ รฟม.ประเมินค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1ไว้ที่ 15,950 ล้านบาท หาก รฟม.ไปขอปรับลดมากกว่านี้ก็อาจถูกกลุ่ม CKTC ฟ้องร้องได้ขณะเจ้าของเงินกู้ คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (JICA) ยังมีข้อกำหนดว่า เมื่อ JICA ให้การรับรองแล้วว่า กลุ่ม CKTC เสนอราคาต่ำสุด ห้ามเจรจาต่อรองเพื่อลดราคาอีก ไม่เช่นนั้นจะยกเลิกการประมูล การเจรจาระหว่าง รฟม.กับกลุ่ม CKTC จึงเป็นไปแบบภายใน