xs
xsm
sm
md
lg

พ.ค.เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง-อานิสงส์เช็คช่วยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สถาบันวิจัยนครหลวงไทย”ประเมินเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค.มีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้น จากตัวเลขการบริโภคเอกชน และแรงขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐ โดยเฉพาะเช็คช่วยชาติ พร้อมคาดภาพรวมจีดีพีทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ -4.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยายตัว

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2552 โดยคาดว่าภาพโดยรวมจะส่งสัญญาณเป็นบวกเพิ่มขึ้นจากระดับในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในด้านของตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาล

เนื่องจาก มองว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบผ่านทางการใช้จ่ายของประชาชน ผ่านทางนโยบายเช็คช่วยชาติ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขในด้านของภาคการบริโภคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2552 แต่อย่างไรก็ตามภาพโดยรวมในด้านของการลงทุนภาคเอกชน ยังคงถือได้ว่าจะมีทิศทางเป็นการชะลอตัวลง เนื่องจากการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันยังคงถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ดังนั้นคาดว่าภาคเอกชนจะยังคงไม่มีการลงทุนในโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้นในระยะสั้น

ในขณะที่ในด้านของภาคการค้าต่างประเทศ SCRI คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นในทิศทางเดียวกันกับภาคการบริโภค เนื่องจากมองว่าภาพรวมของภาคการค้าของโลกได้เริ่มที่จะมีการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยบวกจากการกลับมาฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ได้ช่วยดึงให้เกิดอุปสงค์หมุนเวียนกลับเข้ามาในตลาดการค้าของโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย ที่เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลสืบเนื่องให้ภาคการผลิตในช่วงเดือน พ.ค. นี้จะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง และยังรวมไปถึงการปรับฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าต่อเนื่องอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการปรับฟื้นตัวขึ้นจะอยู่ในระดับที่จำกัดเท่านั้น เนื่องจากภาพรวมของภาคการบริโภคทั่วโลกยังคงถือได้ว่ามีการหดตัวลงเมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ SCRI ยังคงประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย (GDP) ในปี 2552 อยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ยประมาณ -4.1% ชะลอจากระดับในปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยประเมินกรอบของการหดตัวลงของเศรษฐกิจอยู่ระหว่าง -5.1% ถึง -3.0% ซึ่ง ยังคงให้น้ำหนักปัจจัยลบสำคัญของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ปัจจัยยทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง ที่ถือได้ว่าอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจจะส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 หดตัวลงเกินกว่าในกรอบที่คาดก็เป็นได้

ทำให้ภาพรวม ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วง Q2-Q3/52 ยังคงจะเป็นการหดตัวลงจากระดับในปี 2551 อย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยลบหลักๆมาจากการชะลอตัวลงของภาคอุปสงค์ในประเทศ ตามเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังคงถือได้ว่ามีความเปราะบางอยู่สูง รวมไปถึงการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นแล้วในมุมมองภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง Q2/52 - Q3/52 มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง โดยได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในช่วง Q2 ถึง Q3 ปีนี้ จะหดตัวลงอยู่ที่ -6.8% และ -4.1% ตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีการกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยใน Q4/52 จากปัจจัยในด้านของฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อนหน้า โดยที่ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง Q4/52 แม้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคงไม่มีการปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตามปัจจัยในด้านของฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อนหน้า จะส่งผลให้ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจจะเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น และนอกจากนั้นรวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีคาดว่าจะคลี่คลายลงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมของภาคการส่งออกของไทย มีโอกาสที่จะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี โดยเฉพาะการปรับตัวในด้านของภาคการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาค และรวมไปถึงในตลาดใหม่อย่างประเทศในตะวันออกกลาง ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งโดยรวมแล้วจะส่งผลให้ GDP ของไทยในช่วง Q4/52 SCRI มองว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 1.5% yoy ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส

สำหรับ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ SCRI ประเมินว่าเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ตามแรงกดดันจากทางด้านราคาสินค้าอาหารที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมไปถึงทิศทางระดับราคาน้ำมันที่เริ่มม กลับมาเป็นขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในระยะสั้นแล้วภาพโดยรวมในช่วงเดือน มิ.ย. 2552 โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้าแล้ว ยังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นการหดตัวลงอย่างชัดเจน โดยภาพโดยรวมของระดับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

หรือโดยรวมแล้วยังคงบ่งชี้ได้ว่า จากการที่ระดับของฐานราคาสินค้าที่มีความแตกต่างกันอย่างมากจากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านของระดับราคาเชื้อเพลิง จะส่งผลให้ภาพโดยรวมของระดับอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้า ยังคงมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ว่าในขณะเดียวกันในด้านของแนวโน้มของระดับราคาสินค้าประเภทอาหาร รวมไปถึงในด้านของราคาน้ำมัน เมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้า จะยังคงมีทิศทางเป็นการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ก็ตาม โดย SCRI คาดว่าแนวโน้มโดยเฉลี่ยในตลอดช่วง 1H/52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ยประมาณที่ -1.0% ถึง -1.5% โดยนอกจากนั้นประเมินจุดต่ำสุดของระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะอยู่ที่ระดับประมาณ -3.5% ในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. 2552

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อใน 2H/52 คาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ในช่วง Q3/52 เป็นต้นไป หลังจากครบกำหนดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลในรอบที่ 2 โดยภาพรวมของทิศทางอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2H/52 SCRI คาดว่ามีโอกาสสูงที่จะยังคงเป็นการหดตัวลงติดลบต่อเนื่องจนถึงอย่างน้อยในช่วงเดือน ก.ค. 2552 ซึ่งเป็นเดือนที่ครบกำหนดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลในรอบที่ 2 ซึ่งหลังจากพ้นช่วงมาตรการไปแล้วจะส่งผลให้ระดับของราคาสินค้าสาธารณูปโภคต่างๆจะมีการปรับเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน และจะทำให้ทิศทางอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะกลับมามีการปรับฟื้นขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง และเมื่อยิ่งประกอบกับคาดว่าแรงซื้อของภาคเอกชนอาจจะเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี รวมไปถึงแรงกดดันจากทางด้านราคาอาหารที่คาดว่าจะมีการทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ภาพโดยรวมของระดับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2H/52 โดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นการปรับขยายตัวขึ้นกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.75% ถึง 1.75%

นอกจากนี้ SCRI ยังคงคาดการณ์ทิศทางของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวอยู่ในระดับ 1.25% ต่อเนื่องอย่างน้อยไปจนถึงช่วงปลายปี โดยหลังจากที่ทาง กนง. มีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ในช่วงวันที่ 20 พ.ค. 2552 ส่งผลให้ภาพโดยรวมของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะเป็นการลงไปเคลื่อนไหวใกล้กับระดับต่ำสุดของปี 2552 เนื่องจากในปัจจุบันในด้านของภาพรวมตลาดการเงิน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกมากนัก เนื่องจากมองว่าปัจจัยที่กำหนดระดับบอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจึงเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างจะสูญเปล่า ดังนั้นจึงประเมินว่า กนง. จึงยังคงไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก

อย่างไรก็ตามถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้นในตลาดการเงิน รวมไปถึงภาคเศรษฐกิจจริงขึ้นอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่จะส่งผลให้ทาง กนง. อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับลดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อช่วยกระตุ้นภาพรวมของภาคอุปสงค์ในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น รวมไปถึงเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีหนี้เงินกู้ลง เพื่อให้ช่วยสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม SCRI เชื่อว่าทิศทางการปรับลดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะเหลืออีกไม่มากนัก เนื่องจากมีแรงกดดันทั้งจากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ที่มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี รวมไปถึงระดับดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ทีระดับที่ต่ำมากแล้ว โดยในกรณีนี้ SCRI ก็ยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปที่ระดับ 0.75% ถึง 1.0% เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น