xs
xsm
sm
md
lg

คาดศก.ไทยQ2-3ติดลบต่อเนื่อง จากแรงกดดันการเมือง-ความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ได้ทำการประเมินถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในช่วงไตรมาสแรกที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ได้แถลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.) ว่าจุดที่น่าสนใจของระดับการปรับลดลงของตัวเลข GDP ในช่วง Q1/52 ที่ผ่านมา อยู่ที่การปรับตัวลดลงของสินค้าคงเหลือ ที่มีมูลค่าโดยรวมลดลงจากในไตรมาสที่ผ่านมากว่า 1.56 แสนล้านบาท โดยภาพโดยรวมของการหดตัวลงของระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง Q1/52 ที่ผ่านมาปัจจัยที่ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก มาจากทิศทางการหดตัวลงของตัวเลขสินค้าคงเหลือ

ซึ่งถ้านับเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบันแล้วจะเป็นการชะลอตัวลงจากในไตรมาสที่ผ่านมาถึงกว่าระดับ 1.56 แสนล้านบาท และได้ส่งผลต่อทิศทางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างมาก โดยมีสัดส่วนต่อการหดตัวลงของ GDP (Contribution to Real GDP Growth) ในช่วง Q1/52 ถึงกว่า -7.5% จากระดับการหดตัวลงทั้งหมดที่ -7.1% yoy ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะผิดปกติจากระดับการชะลอตัวโดยปกติอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มองว่าโดยส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่มีการหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปถึงภาพรวมของภาคการส่งออกที่มีการหดตัวลงถึงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลทำให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ต่างได้มีการลดกำลังการผลิตสินค้าลงต่อเนื่องในช่วง Q1/52 ที่ผ่านมา โดยได้มีการเร่งระบายสินค้าในสต๊อกออกสู่ตลาด รวมไปถึงปรับลดระดับการสำรองวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง เพื่อเตรียมรับกับความเสี่ยงในด้านของสถานการณ์การชะลอตัวของภาคอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ

ดังนั้น ในช่วงถัดไป มองว่าภาคการผลิตโดยรวม น่าจะเริ่มมีแนวโน้มการกลับมาสะสมระดับสินค้าคงคลังมากขึ้น หลังจากที่มีการปรับลดลงอย่างรุนแรงโดยตลอดช่วง Q1/52 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการรักษาระดับกำลังการผลิตโดยส่วนหนึ่งให้ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และยังรวมไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น อันจะนำไปสู่ทิศทางของภาคการส่งออกที่มีโอกาสที่จะมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในช่วงถัดไป ระดับส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือจึงน่าจะไม่เป็นการหดตัวลงอย่างรุนแรง เช่นในช่วง Q1/52ที่ผ่านมา และจะถือได้ว่าเป็นการส่งผลลบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจเพียงในระยะสั้นๆเท่านั้น

SCRI ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วง Q2-Q3 ปี 2552 คาดว่าแนวโน้มยังคงจะเป็นการหดตัวลงติดลบต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพโดยรวมของตัวเลข GDP ของไทย น่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ไปแล้ว โดย ประเมินภาพโดยรวมของเศรษฐกิจในช่วง Q2-Q3 คาดว่าจะยังคงเห็นแนวโน้มการหดตัวลงติดลบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านยังคงถือได้ว่ามีความอ่อนแออยู่สูง โดยเฉพาะในด้านของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดว่าจะยังคงส่งผลลบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากในช่วง Q1/52

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันที่สำคัญยังคงมาจากการขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยรวมได้ส่งผลให้ประชาชนโดยทั่วไปจะยังคงมีการชะลอการใช้จ่ายออกไปมากขึ้น เพื่อเตรียมรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงแนวโน้มอัตราการว่างงานที่คาดว่าจะยังคงมีการขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง

โดยจะสังเกตได้อย่างชัดเจนจากทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) และ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ที่ได้มีการปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบหลายปีหลังที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในด้านของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ในระยะสั้นแล้วจึงยังคงจะถือได้ว่าไม่มีสัญญาณการกลับมาปรับฟื้นตัวดีขึ้น

นอกจากนั้น ยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันนั้นยังคงถือได้ว่ามีปัจจัยลบเพิ่มเติม จากปัญหาทางด้านการเมืองในประเทศ ที่ประเมินว่าได้ส่งผลให้กับภาพรวมของแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย ดูจะออกมาเป็นการเคลื่อนไหวที่แย่ลงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองได้ส่งผลให้ทิศทางความเชื่อมั่นของประชาชนโดยทั่วไป รวมไปถึงนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศมีการปรับลดลงอย่างชัดเจน

แม้ว่าจะผ่านช่วงวิกฤติความวุ่นวายทางการเมือง จากเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ตาม เนื่องจากมีการมองไปถึงความกังวลถึงภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาว ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน เนื่องจากต้องมีการประเมินถึงความเสี่ยงจากการออกนโยบาย ที่อาจจะมีความขัดแย้งกันในอนาคต ทำให้ในระยะสั้นแล้วภาคเอกชนจึงมีโอกาสสูงที่จะมีการชะลอแผนการลงทุนในประเทศออกไปก่อน เพื่อประเมินถึงความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่ในด้านของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล ที่ถือได้ว่าเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ภาพโดยรวมยังคงถือว่าค่อนข้างทีจะขาดประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย อันเนื่องมาจากภาพรวมทางด้านการเมืองทั้งในและนอกสภา ที่ยังคงมีความขัดแย้งกันค่อนข้างสูง ทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมจึงค่อนข้างเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และค่อนข้างขาดประสิทธิภาพ

ซึ่งในล่าสุดทางพรรคฝ่ายค้านก็ได้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟู และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งก็ส่งผลให้ภาพรวมของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความล่าช้าออกไป

ดังนั้นแล้วในมุมมองของ SCRI ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง Q2/52 - Q3/52 จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพโดยรวมไม่น่าจะปรับลดลงในอัตราเร่งมากขึ้นอีกแล้ว เนื่องจากคาดว่าระดับของการปรับลดลงในด้านของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือ น่าจะมีการปรับตัวได้ดีขึ้น หลังจากที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ตามแนวโน้มการกลับมาสะสมสินค้าทุนเพิ่มขึ้น (Restock) หลังจากที่มีการปรับลดระดับการสำรองสินค้าคงคลังและวัตถุดิบลงอย่างรวดเร็วในช่วง Q1/52 ที่ผ่านมา

และยังรวมไปถึงทิศทางของภาคการส่งออกที่คาดว่าน่าเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ส่งผลให้โดยสรุป SCRI คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง Q2 -Q3 ปี 2552 จะหดตัวลงอยู่ที่ -6.8% yoy และ -4.1% yoy ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับในช่วง Q1/52 เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามยังคงเป็นการปรับตัวลดลงติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปรับลดต่อเนื่องกันมากที่สุด หลังจากที่มีการหดตัวลงติดลบ 8 ไตรมาสติดต่อกัน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในรอบที่แล้ว ในปี 2540-2541

SCRI ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีการกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยใน Q4/52 จากปัจจัยในด้านของฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อนหน้า และรวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีคาดว่าจะคลี่คลายลงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมของภาคการส่งออกของไทย มีโอกาสที่จะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

ขณะเดียวกัน ยังประเมินว่าภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง Q4/52 แม้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคงไม่มีการปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในด้านของฐานที่ตํ่าในช่วงปีก่อนหน้า จะส่งผลให้ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจจะเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวในด้านของภาคการส่งออกที่คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งโดยรวมแล้วจะส่งผลให้ GDP ของไทยในช่วง Q4/52 มองว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับประมาณ 1.5% yoy

โดยสรุป SCRI ประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย (GDP) ในปี 2552 อยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ยประมาณ -4.1% ชะลอจากระดับในปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน ขณะที่ให้กรอบของการหดตัวลงของ GDP อยู่ที่ระดับ -5.1% ถึง -3.0% โดยยังคงให้นํ้าหนักปัจจัยลบสำคัญของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ปัจจัยทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง ที่คาดว่าจะเป็นแรงกดดันต่อภาคอุปสงค์ในประเทศให้เกิดการชะลอตัวต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ยังคงถือได้ว่ายังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจให้มีการชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่คาด ทั้งในด้านของการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่อาจจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และในด้านของภาคการส่งออก ที่มีความเสี่ยงที่จะโดนผลกระทบโดยตรงจากทิศทางการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท รวมไปถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสกลับมาปรับตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการหดตัวลงของภาคอุปสงค์ในประเทศให้มีการหดตัวลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเร่งจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และรวมไปถึงทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น