ร.ฟ.ท.ลุ้นแผนฟื้นฟู-พร้อมตั้ง 2 บ.ลูก เตรียมชง ครม.พรุ่งนี้ มั่นใจได้รับความเห็นชอบ เพราะช่วยลดภาระขาดทุนได้จริง
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.คาดหวังให้การพิจารณาแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงโครงสร้าง และจัดตั้งบริษัทเดินรถและบริหารทรัพย์สินผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 (พรุ่งนี้) ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการดำเนินการในภาพรวมของ ร.ฟ.ท.
นายยุทธนา กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูกของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์) จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยแผนการจัดตั้งบริษัทลูก ถือเป็นการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบระบบเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายน 2552 นี้
ทั้งนี้ เมื่อมีบริษัทเดินรถของแอร์พอร์ตลิงก์เกิดขึ้น การจัดหาบุคลากร การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะสามารถเดินหน้าอย่างคล่องตัว เพราะไม่ต้องนำทุกเรื่องที่จะดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.โดยผู้บริหารของบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้น สามารถบริหารและสั่งการงานต่างๆ ได้เลย
ส่วนโครงสร้างของบริษัท ยืนยันว่า ร.ฟ.ท.ควรเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 100 ส่วนการที่จะนำผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในพนักงาน ร.ฟ.ท.รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบว่า รูปแบบใดมีความเหมาะสมมากที่สุด
ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างและทดสอบการเดินรถของโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ในส่วนของการก่อสร้าง และตกแต่งสถานี มีความคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 99 และสาเหตุที่ ร.ฟ.ท.ต้องการเปิดให้มีการเริ่มทดสอบเดินรถเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 นี้ เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 31 คัน 9 ขบวน ที่ประกอบโดยซีเมนส์ ได้นำเข้ามาในประเทศไทยจนครบเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งก็ควรนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ทดสอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังคาดหวังว่า แผนฟื้นฟูกิจการในภาพรวมจะผ่านความเห็นชอบของ ครม.เช่นเดียวกัน เนื่องจากจะทำให้ฐานะการเงิน และภาพรวมกิจการรถไฟปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมของแผนการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้ ครม.พิจารณานั้น ได้เสนอให้ภาครัฐเข้ามารับภาระ ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ (PSO) และการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบราง การซ่อมบำรุง และระบบอาณัติสัญญาณ (Infrastructure Maintenance Operation : IMO) ในอนาคต ร้อยละ 70 คิดเป็นวงเงิน 48,426 ล้านบาท โดยบริษัทเดินรถที่ ร.ฟ.ท.จัดตั้งขึ้น จะรับภาระที่เหลืออีกร้อยละ 30
โดยผลการศึกษาระบุชัดเจนว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการจะมีผลแตกต่างกันมาก คือ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู จะทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้เพิ่มจากการเดินรถ เป็น 109,521 ล้านบาท จากปกติ 79,638 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี เนื่องจาก รฟท.จะมีรายได้เพิ่มจากการเดินรถ และขนส่งสินค้า ตามแผนการลงทุนก่อสร้างทางคู่
ขณะเดียวกัน ก็จะสามารถลดเงินอุดหนุน ตามเงื่อนไข IMO จาก 69,320 ล้านบาท ลงเหลือ 48,426 ล้านบาท และลดเงินสนับสนุนด้าน PSO ลงจาก 40,000 ล้านบาท ลงเหลือ 25,376 ล้านบาท