xs
xsm
sm
md
lg

ใบสั่งชุมพลตั้งคน ททท.คุมอีลิท “ธงชัย” เล็งชงทางเลือกแช่แข็งองค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธงชัย” ประเดิมหน้าที่ร่างทรงรับใบสั่ง “ชุมพล” ตั้ง “อุดม” คน ททท.นั่งรักษาการผู้จัดการใหญ่อีลิทการ์ด อ้างที่ผ่านมาเลือกใช้คนเก่ง แต่บริษัทก็ยังขาดทุน พร้อมจี้งานตรวจสอบบริษัท ระบุเป็นไปได้ที่จะเพิ่มทางเลือกที่ 4 คือ แช่แข็งองค์กร หวั่นพนักงานเดือดร้อน ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

นายธงชัย ศรีดามา รองอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ ที่ปรึกษาระดับ 10  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรรมการในบอร์ดทีพีซี ขึ้นเป็นรักษาการผู้จัดการใหญ่ทีพีซี แทน นายณัฐพล เดชวิทักษ์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานการจำหน่ายและการตลาด ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรักษาการ โดยทั้งหมดให้มีผลทันทีนับจากวันนี้เป็นต้นไป
 
***ใบสั่ง “ชุมพล” เลือกคน ททท.นั่งรักษาการ******
               
สาเหตุที่เลือกคนของ ททท.มารับตำแหน่งรักษาการในครั้งนี้ ก็เพราะเป็นนโยบายของ นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในทีพีซี ได้กำชับมาว่าให้เข้าไปดูแลการทำงานของทีพีซีอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงเห็นว่า นายอุดม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ททท.และยังเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดทีพีซีอยู่แล้วเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด โดยแนวทางการทำงานของบอร์ดทีพีซีและรักษาการผู้จัดการใหญ่นับจากนี้ไป จะเน้นเรื่องการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลมากที่สุด โดยจะขอเวลาศึกษาข้อมูลของทีพีซีอย่างละเอียดอีกครั้ง
 
“ทีพีซีมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2546 ทำให้ปัจจุบันนี้มียอดขาดทุนสะสมรวมแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ทั้งที่ผู้บริหารของทีพีซีก็มาจากการสรรหา โดยเลือกจากคนเก่ง คนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับได้ของทุกคน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมหมดไป ซึ่งเราพบว่ามีหลายจุดต้องแก้ไข เพราะระบบการบริหารจัดการที่วางไว้มีช่องโหว่ อีกทั้งเป็นนโยบายของนายชุมพลที่ต้องการให้คนในเข้ามาบริหารทีพีซีในช่วงนี้”
  
ทั้งนี้ บอร์ดจะต้องทำงานภายใต้กรอบของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2552 ที่ให้กระทรวงการท่องเที่ยวมาศึกษาทางเลือกการยุติโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท  แต่โจทย์ที่บอร์ดจะต้องคำนึงถึงมากที่สุดมี 3  ประเด็นคือ 1.ต้องไม่กระทบกับพนักงานของทีพีซี และต้องไม่ลอยแพพนักงานแต่ต้องหาที่ไปให้แก่พนักงานโดยไม่ให้ใครเดือดร้อน 2.ต้องไม่กระทบต่อสมาชิกผู้ถือบัตรไทยแลนด์อีลิท ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 2,750 ราย แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้แก่ผู้ถือบัตรด้วย และ 3.ต้องไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศหากต้องยุติโครงการจริงก็ต้องหาวิธีที่นิ่มนวลที่สุด ซึ่งข้อนี้บอร์ดเป็นห่วงมากที่สุด
 
****เพิ่มทางเลือกที่ 4 แช่แข็งองค์กร***********
               
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า บอร์ดทีพีซีจะเสนอทางเลือกเพิ่มเป็นอย่างน้อย 4 ทางจากเดิมมี 3 ทาง เพื่อให้นายชุมพล ตัดสินใจก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมครม.  โดยทางเลือกที่จะเพิ่มเข้าไปคือให้แช่แข็ง (ฟรีซ) องค์กรไว้แค่นี้คือยุติการหาสมาชิกใหม่ แล้วบริหารจัดการสมาชิกเท่าที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยอาจยุบบริษัทให้เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของททท.ที่จะต้องดูแลเท่านั้น  ส่วน 3 แนวทางแรกที่เคยเสนอนายชุมพลไปแล้ว คือ 1.ยุบทิ้งโครงการพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานและสมาชิก 2.ดำเนินโครงการต่อไปภายใต้แผนงานที่จัดทำขึ้นใหม่ และ 3.ประกาศหาเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป
 
***รายงานตรงถึง “ชุมพล” ทุกสัปดาห์******
               
ทั้งนี้ บอร์ดจะรายงานความคืบหน้าของการทำงานต่อนายชุมพลทุกสัปดาห์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้หารือและรับนโยบายจากนายชุมพล ทางโทรศัพท์อยู่แล้ว  ซึ่งนายชุมพล ต้องการให้ทีพีซีเร่งปรับลดเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากขณะนี้บริษัทไม่มีรายได้ ก็ต้องทำให้มีรายจ่ายที่น้อยที่สุด  เช่นการปรับลดค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานที่เป็นเอาท์ซอสออกไป เช่น ในส่วนของคอลเซ็นเตอร์ และพนักงานต้อนรับ แล้วดึงพนักงานจากแผนกการตลาดและการขาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีงานทำ เข้ามาแทน เป็นต้น 

นอกจากนั้น ต้องพิจารณาปรับลดค่าตอบแทนแก่ตัวแทนจำหน่าย, เวนเดอร์ที่ให้บริการสมาชิก เช่น กอล์ฟ สปา และ รถลีมูซีน, สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่สมาชิกว่ามากเกินไปหรือไม่ และ จำนวนการใช้จริงของสมาชิกว่ามีเท่าใดแน่ ซึ่งการทำงานนับแต่นี้ไปจะเร่งให้เร็วที่สุด เพราะล่าช้ามานานแล้ว จากที่นายชุมพลเคยระบุว่าจัดสินใจภายใน 2 สัปดาห์แต่ขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีเหตุและผลประกอบการตัดสินใจและเกิดผลกระทบที่เป็นความเสียหายให้น้อยที่สุด
 
***ขึ้นเงินเดือน พนง.ทุกปีตามกฎ**

           
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินเดือนพนักงานไม่สามารถปรับลดได้ เพราะเป็นไปตามกฎการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งทุกปีจะต้องมีการปรับขึ้นซึ่งเป็นไปตามกฎรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่ในส่วนของค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ไมต้องจ่ายเพราะบริษัทไม่มีผลกำไร

               
ทางด้าน นายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ รักษาการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า  ภารกิจเร่งด่วน คือหาแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายให้แก่ทีพีซี พร้อมกับศึกษาแนวทางออกให้ทีพีซีเพิ่มเติมจากที่เสนอไปแล้ว 3 แนวทาง ซึ่งระยะแรกต้องให้เวลาที่จะเข้ามาทำงานที่ทีพีซีอย่างเต็มที่ เพื่อจัดระเบียบและหาข้อมูลนำส่งให้ได้มากที่สุด
 
***ยันลาออกเองไม่ได้ถูกกดดัน***
               
ขณะที่ นายณัฐพล  เดชวิทักษ์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานการจำหน่ายและการตลาด อดีตรักษาการผู้จัดการใหญ่ทีพีซี กล่าวว่า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรักษาการเมื่อเช้าวันที่ 12 พ.ค.52 ก่อนเริ่มการประชุมบอร์ดทีพีซี เพราะต้องการให้บอร์ดและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบทีพีซีได้เต็มที่ หากตนยังรับตำแหน่งนี้อยู่ข้อมูลที่ได้อาจไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทด้วย โดยอาจถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการตรวจสอบครั้งนี้ 

และขอยืนยันว่า การลาออกไม่ได้ถูกกดดันจากใครทั้งสิ้นแต่สมัครใจที่จะลาออกเอง โดยคิดมาตั้งแต่ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดเมื่อปลายเดือน เม.ย.52 แต่หลายคนห้ามไว้ แต่ถึงวันนี้ตนมองว่าสมควรแก่เวลาที่จะต้องลาออกแล้ว เพื่อเปิดทางเรื่องการตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น