xs
xsm
sm
md
lg

ใบสั่งชุมพลตั้งคนททท.คุมอีลิท “ธงชัย”เล็งชงทางเลือกแช่แข็งองค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธงชัย”ประเดิมหน้าที่ร่างทรงรับใบสั่ง “ชุมพล” ตั้ง “อุดม” คนททท.นั่งรักษาการผู้จัดการใหญ่อีลิทการ์ด อ้างที่ผ่านมาเลือกใช้คนเก่งแต่บริษัทก็ยังขาดทุน พร้อมจี้งานตรวจสอบบริษัท ระบุเป็นไปได้ที่จะเพิ่มทางเลือกที่ 4 คือ แช่แข็งองค์กร หวั่นพนักงานเดือดร้อน ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย
 
            นายธงชัย ศรีดามา รองอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ ที่ปรึกษาระดับ 10  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และกรรมการในบอร์ดทีพีซี ขึ้นเป็นรักษาการผู้จัดการใหญ่ทีพีซี แทนนายณัฐพล เดชวิทักษ์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานการจำหน่ายและการตลาด ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรักษาการ โดยทั้งหมดให้มีผลทันทีนับจากวันนี้เป็นต้นไป
 
***ใบสั่ง “ชุมพล” เลือกคนททท.นั่งรักษาการฯ******
                สาเหตุที่เลือกคนของททท.มารับตำแหน่งรักษาการในครั้งนี้ก็เพราะเป็นนโยบายของนายชุมพล ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในทีพีซี ได้กำชับมาว่าให้เข้าไปดูแลการทำงานของทีพีซีอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงเห็นว่านายอุดม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของททท.และยังเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดทีพีซีอยู่แล้วเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด โดยแนวทางการทำงานของบอร์ดทีพีซีและรักษาการผู้จัดการใหญ่นับจากนี้ไป จะเน้นเรื่องการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลมากที่สุด โดยจะขอเวลาศึกษาข้อมูลของทีพีซีอย่างละเอียดอีกครั้ง
 
                “ทีพีซีมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2546 ทำให้ปัจจุบันนี้มียอดขาดทุนสะสมรวมแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ทั้งที่ผู้บริหารของทีพีซีก็มาจากการสรรหา โดยเลือกจากคนเก่ง คนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับได้ของทุกคน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมหมดไป ซึ่งเราพบว่ามีหลายจุดต้องแก้ไข เพราะระบบการบริหารจัดการที่วางไว้มีช่องโหว่ อีกทั้งเป็นนโยบายของนายชุมพลที่ต้องการให้คนในเข้ามาบริหารทีพีซีในช่วงนี้”
  
            ทั้งนี้บอร์ดจะต้องทำงานภายใต้กรอบของมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 28 ม.ค.52 ที่ให้กระทรวงการท่องเที่ยวมาศึกษาทางเลือกการยุติโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท  แต่โจทย์ที่บอร์ดจะต้องคำนึงถึงมากที่สุดมี 3  ประเด็นคือ 1.ต้องไม่กระทบกับพนักงานของทีพีซี และต้องไม่ลอยแพพนักงานแต่ต้องหาที่ไปให้แก่พนักงานโดยไม่ให้ใครเดือดร้อน 2.ต้องไม่กระทบต่อสมาชิกผู้ถือบัตรไทยแลนด์อีลิท ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 2,750 ราย แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้แก่ผู้ถือบัตรด้วย และ 3.ต้องไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศหากต้องยุติโครงการจริงก็ต้องหาวิธีที่นิ่มนวลที่สุด ซึ่งข้อนี้บอร์ดเป็นห่วงมากที่สุด
 
****เพิ่มทางเลือกที่ 4 แช่แข็งองค์กร***********
                อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า บอร์ดทีพีซีจะเสนอทางเลือกเพิ่มเป็นอย่างน้อย 4 ทางจากเดิมมี 3 ทาง เพื่อให้นายชุมพล ตัดสินใจก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมครม.  โดยทางเลือกที่จะเพิ่มเข้าไปคือให้แช่แข็ง(ฟรีซ)องค์กรไว้แค่นี้คือยุติการหาสมาชิกใหม่ แล้วบริหารจัดการสมาชิกเท่าที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยอาจยุบบริษัทให้เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของททท.ที่จะต้องดูแลเท่านั้น  ส่วน 3 แนวทางแรกที่เคยเสนอนายชุมพลไปแล้วคือ 1.ยุบทิ้งโครงการพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานและสมาชิก 2.ดำเนินโครงการต่อไปภายใต้แผนงานที่จัดทำขึ้นใหม่ และ3.ประกาศหาเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป
 
***รายงานตรงถึง “ชุมพล”ทุกสัปดาห์******
                ทั้งนี้บอร์ดจะรายงานความคืบหน้าของการทำงานต่อนายชุมพลทุกสัปดาห์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้หารือและรับนโยบายจากนายชุมพล ทางโทรศัพท์อยู่แล้ว  ซึ่งนายชุมพล ต้องการให้ทีพีซีเร่งปรับลดเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากขณะนี้บริษัทไม่มีรายได้ ก็ต้องทำให้มีรายจ่ายที่น้อยที่สุด  เช่นการปรับลดค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานที่เป็นเอาท์ซอสออกไป เช่น ในส่วนของคอลเซ็นเตอร์ และพนักงานต้อนรับ แล้วดึงพนักงานจากแผนกการตลาดและการขาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีงานทำ เข้ามาแทน เป็นต้น  นอกจากนั้นต้องพิจารณาปรับลดค่าตอบแทนแก่ตัวแทนจำหน่าย, เวนเดอร์ที่ให้บริการสมาชิก เช่น กอล์ฟ สปา และรถลีมูซีน, สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่สมาชิกว่ามากเกินไปหรือไม่ และ จำนวนการใช้จริงของสมาชิกว่ามีเท่าใดแน่ ซึ่งการทำงานนับแต่นี้ไปจะเร่งให้เร็วที่สุด เพราะล่าช้ามานานแล้ว จากที่นายชุมพลเคยระบุว่าจัดสินใจภายใน 2 สัปดาห์แต่ขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีเหตุและผลประกอบการตัดสินใจและเกิดผลกระทบที่เป็นความเสียหายให้น้อยที่สุด
 
***ขึ้นเงินเดือนพนง.ทุกปีตามกฎ**

            อย่างไรก็ตามในส่วนของเงินเดือนพนักงานไม่สามารถปรับลดได้ เพราะเป็นไปตามกฎการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งทุกปีจะต้องมีการปรับขึ้นซึ่งเป็นไปตามกฎรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่ในส่วนของค่าตอบแทนพิเศษ(โบนัส) ไมต้องจ่ายเพราะบริษัทไม่มีผลกำไร

                ทางด้านนายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ รักษาการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า  ภาระกิจเร่งด่วน คือหาแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายให้แก่ทีพีซี พร้อมกับศึกษาแนวทางออกให้ทีพีซีเพิ่มเติมจากที่เสนอไปแล้ว 3 แนวทาง ซึ่งระยะแรกต้องให้เวลาที่จะเข้ามาทำงานที่ทีพีซีอย่างเต็มที่ เพื่อจัดระเบียบและหาข้อมูลนำส่งให้ได้มากที่สุด
 
***ยันลาออกเองไม่ได้ถูกกดดัน***
                ขณะที่นายณัฐพล  เดชวิทักษ์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานการจำหน่ายและการตลาด อดีตรักษาการผู้จัดการใหญ่ทีพีซี กล่าวว่า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรักษาการเมื่อเช้าวันที่ 12 พ.ค.52 ก่อนเริ่มการประชุมบอร์ดทีพีซี เพราะต้องการให้บอร์ดและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบทีพีซีได้เต็มที่ หากตนยังรับตำแหน่งนี้อยู่ข้อมูลที่ได้อาจไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทด้วย โดยอาจถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการตรวจสอบครั้งนี้  และขอยืนยันว่าการลาออกไม่ได้ถูกกดดันจากใครทั้งสิ้นแต่สมัครใจที่จะลาออกเอง โดยคิดมาตั้งแต่ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดเมื่อปลายเดือนเม.ย.52 แต่หลายคนห้ามไว้ แต่ถึงวันนี้ตนมองว่าสมควรแก่เวลาที่จะต้องลาออกแล้วเพื่อเปิดทางเรื่องการตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น