xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐหามาตรการหนุนบ้านหลังแรก หวังฟื้นธุรกิจอสังหาฯไทยระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯจี้รัฐบาลหนุนประชาชนมีบ้านหลังแรก แต่อย่าหนุนจนเกินกำลังคนซื้อ แนะดูบทเรียนอเมริกาเป็นตัวอย่าง เชียร์รัฐตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ หวังพัฒนาอสังหาฯไทยยั่งยืน ด้าน “โสภณ พรโชคชัย” เสนอดึงเอกชนนั่งในบอร์ดด้วย

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ยังถือว่าชะลอตัว โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่ผ่านมามีวันหยุดเยอะ ทำให้เหลือวันทำการเพียง 16 วันเท่านั้น และเชื่อว่าสถานการณ์จะต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ตลาดที่พึ่งพิงตลาดต่างชาติยังได้รับผลกระทบมากเช่นเดิม โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช1เอ็น1 2009

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ เริ่มมีการปรับลดพนักงานเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กระทบเฉพาะพนักงานระดับผลิต แต่ขณะนี้เริ่มกระทบมายังพนักงานระดับกลางที่มีกำลังซื้อบ้านแล้ว ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นเชื่อว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลงไปประมาณ 20% อย่างไรก็ดี ยังมีแรงซื้อเพิ่มขึ้น จากกลุ่มนักลงทุนที่โยกเงินจากการออมหรือลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนที่มีผลตอบแทนต่ำ มาซื้ออสังหาฯเพื่อลงทุนหรือปล่อยเช่า โดยกลุ่มนี้มีอัตราการซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% แต่ยังไม่ครอบคลุมกับกำลังซื้อส่วนใหญ่ที่หาย ดังนั้น จึงขอเตือนผู้ประกอบการให้มีความระมัดระวังในการพัฒนาโครงการ หรือลดกำลังการผลิตตามกำลังซื้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นายสัมมา กล่าวต่อว่า ภาคอสังหาฯในขณะนี้ ต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองด้วยโครงการบ้านหลังแรก ซึ่งในหลักการรัฐบาลไม่ควรลงมือก่อสร้างเอง แต่ควรเป็นผู้วางนโยบายและสนับสนุน เพื่อให้โครงการเกิดได้ง่ายขึ้น เช่น สนับสนุนสินเชื่อ มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี ที่วางแนวทางปฏิบัติอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดการคอรัปชั่น เป็นต้น ส่วนการก่อสร้างควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเพื่อให้เกิดกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนโครงการบ้านหลังแรกของประชาชน ควรให้เกิดขึ้นตามกำลังซื้อหรือตามความสามารถของประชาชน เพียงแต่เอื้ออำนวยให้สามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ไม่ควรหนุนโครงการจนสุดตัว โดยให้ศึกษาบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา (วิกฤตซับไพรม์) ที่สนับสนุนประชาชนมีบ้านได้ง่ายมาก ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภาษี จนเกิดผลเสียในปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรรจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงผลักดันนโยบายหรือข้อกฎหมาย ที่จะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

**แนะรัฐดึงเอกชนนั่งบอร์ดที่อยู่อาศัยฯ
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรายชื่อคณะกรรมการประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธาน, รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) เป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวง 4 กระทรวงคือ กระทรวงการคลัง, กระทรวง พม., กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าส่วนราชการ 5 แห่งคือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ นอกนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 ท่าน โดยมีรองปลัดกระทรวงการ พม.เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งชุดมี 21 ท่าน

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน ซึ่งรองประธานกรรมการคนที่สองด้วย รวมทั้ง นายไกร ตั้งสง่า นายชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย นายปรีดิ์ บุรณศิริ ศาสตราจารย์พิเศษ ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล นายพรศักดิ์ บุณโยดม นายพิจิตต รัตตกุล นายสมชัย ฤชุพันธุ์ และนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา บุคคลเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและในวงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จึงควรมาจากผู้แทนของสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีมาจากภาคอสังหาฯ ซึ่งในความเป็นจริง มีสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเฉพาะในกรุงเทพฯถึง 3 สมาคม นอกจากนั้น ยังมีสมาคมและชมรมในต่างจังหวัด รวมกันก็คงเกือบ 10 องค์กร นักวิชาชีพด้านสถาปนิก วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริหารทรัพย์สิน นายหน้า ก็ควรมีโอกาสไปเป็นกรรมการด้วย เพื่อที่รัฐบาลจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพฯมีไม่ต่ำกว่า 600 ราย หากนับรวมต่างจังหวัดมีไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการผู้แทนของฝ่ายนักพัฒนาที่ดิน ก็ควรจัดประชุมผู้ประกอบการทั่วประเทศ และให้มีการคัดเลือกกันเองโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ไปแล้ว ก็ควรให้โอกาสได้ทำหน้าที่ แต่หากหมดวาระลงไปควรที่จะคัดเลือกภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น