xs
xsm
sm
md
lg

คลังจี้พัฒนาตลาดอนุพันธ์ เคลียร์ทางรับทุนต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.คลัง จี้ตลาดอนุพันธ์ เร่งเพิ่มสินค้าใหม่ ลดกฎเกณฑ์ เปิดทางต่างชาติซื้อขายสะดวก คาด 3 เดือนสรุปผลศึกษาควบรวม TFEX-AFET พร้อมแนะเพิ่มขนาดสัญญาซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สเป็น 100 บาท จากเดิมอยู่ที่ 50 บาทต่อสัญญา หวังป้องกันรายย่อยเก็งกำไร–ลดผลกระทบร้านค้าทองคำ ด้านประธานตลาดอนุพันธ์ขานรับ เล็งออกสินค้าอ้างอิงดัชนีต่างประเทศหรือการนำอนุพันธ์จากตลาดอื่นมาซื้อขายในลักษณะซื้อขายระหว่างกัน ส่วน ก.ล.ต.เล็งผ่อนเกณฑ์กับกำดูแล หนุนใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วิสัยทัศน์การพัฒนาตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 4 วานนี้ (28 เม.ย.) ว่า จากวิฤกตทางการเงินที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานั้นอนุพันธ์ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิฤกตขึ้น แต่หากผู้ที่เกี่ยวข้องที่รู้ข้อดีและความเสี่ยงของอนุพันธ์และใช้อนุพันธ์ด้วยความระมัดระวัง และมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี จะไม่ประสบปัญหาจากการใช้อนุพันธ์ในการบริหารทางการเงิน

“ปัจจุบันมีตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก 69 แห่ง ยังมีการดำเนินธุรกิจที่ดี จากที่มีการกำกับที่ดีของก.ล.ต ในแต่ละประเทศ ซึ่งตลาดอนุพันธ์ไทยเองมีผลการดำเนินงานที่ดี วอลุ่มซื้อขายมากขึ้น หากจัดอันดับความสามารถเทียบกับต่างประเทศเราจะอยู่ที่ 45 ของอนุพันธ์โลก ”

สำหรับแนวทางของรัฐด้านการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ นั้นมีประเด็นหลักๆ 3 ด้านที่ต้องเร่งพัฒนา คือ ความหลากหลายของสินค้า ความรู้ความเข้าใจ และความสะดวกในการซื้อขาย ซึ่งในส่วนของสินค้านั้นที่ผ่านมาสินค้าที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ มีเพียง 4 สินค้า คือ SET 50 ฟิวเจอร์ส SET50 ออปชั่น สต๊อกฟิวเจอร์ส และ โกลด์ฟิวเจอร์ นั้นยังถือว่ามีน้อยเกินไป ดังนั้น การเพิ่มประเภทของสินค้าให้มีความหลากหลายและครอบคลุมสินค้าอ้างอิงอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ ประเด็นที่สองในเรื่องการให้ความเข้าใจให้มากขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันไม่ใช่หน้าที่ของตลาดอนุพันธ์ และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

นอกจากนี้ จะต้องเพิ่มความสะดวกในการซื้อขาย ให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ เข้ามาทำธุรกรรมได้สะดวก ปราศจากอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการเข้ามาทำธุรกรรม ในเรื่องกฎเกณฑ์การทำงานของตลาดอนุพันธ์ ของสำนักหักบัญชี กฎเกณฑ์ของผู้กำกับดูแล และการส่งเงินเข้าและออกจากประเทศไทยต้องไม่เป็นอุปสรรคกับผู้ลงทุนต่างชาติ รวมถึงผู้ลงทุนในสถาบันในประเทศด้วย และกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีอยู่ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติงานของผู้ประกอบการควรพัฒนาให้เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับระดับสากล

** 3 เดือนสรุปควบTFEX- AFET
ส่วนความคืบหน้าการควบรวมตลาดอนุพันธ์ฯ และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) นั้น นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือ กับกระทรวงพาณิชย์ โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะมีการควบรวมหรือไม่ คาดจะทราบผลศึกษาภายใน 3 เดือน

ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส ปัจจุบันที่มี 50 บาทต่อสัญญานั้น ส่วนตัวมองว่าถูกไปหรือไม่ ควรที่จะต้องมีการปรับเพิ่มเป็นซื้อขายทองคำ 100 บาทต่อสัญญาหรือไม่ เพื่อไม่กระทบต่อการซื้อขายร้านทอง เพราะนักลงทุนรายย่อยได้เข้ามาเก็งกำไรทองคำจำนวนมากซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ควรที่จะเข้ามาใช้โกลด์ฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงเท่านั้นไม่ควรที่จะเข้ามาเก็งกำไร

**ยึด3แนวทางพัฒนาอนุพันธ์
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดอนุพันธ์มีการพัฒนาการที่ดี ปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น และในช่วงวิกฤตทางการเงินโลกและปัญหาทางการเมืองของไทยในปีที่ผ่านมานั้นทำให้ตลาดหุ้นผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนต้องการเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายของ TFEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำสถิติสูงสุด ที่มีการซื้อขายสูงสุดถึง 21,000 สัญญาต่อวัน และปัจจุบันมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายกว่า 20,000 บัญชีเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปีแรก

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในอนาคตมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การพัฒนาสินค้าใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งจะพยายามที่จะศึกษาสินค้าที่อ้างอิงกับสินค้าอื่นๆนอกเหนือจากตราสารทุน ที่เป็นสินค้าที่มีความสำคัญแก่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ หรือ สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ และผู้ลงทุน ในการบริหารความเสี่ยงหรือลงทุนได้อย่างเหมาะสม และมีแนวคิดที่จะออกสินค้าที่อ้างอิงกับดัชนีต่างประเทศ หรือการนำอนุพันธ์จากตลาดอื่นมาซื้อขายในลักษณะซื้อขายระหว่างกัน (Cross Trading) เพื่อเป็นกระจายการลงทุนให้แก่นักลงทุนในประเทศอีก

แนวทางที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการซื้อขายอนุพันธ์ ได้อย่างกว้างขวาง มีประสิทธิภาพรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์ ซึ่งทาง TFEX ได้การพัฒนาช่องทางการซื้อขายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคุ้นเคย และใช้เวลาในการสร้างกลยุทธ์เพื่อปรับตัวเข้ากับพัฒนาการต่างๆ และแนวทางที่3 ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ทางTFEX จะมีการทบทวนอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาสะ รวมถึงต้นทุนในเรื่องการวางหลักประกันให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระกับนักลงทุน ในขณะเดียวกันก้ไม่เกิดความเสี่ยงแก่ระบบโดยรวม

อย่างไรก็ตาม TFEX จะใช้นโยบายในการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมในลักษณะที่จะส่งเสริมสมาชิกให้มีแรงจูงใจในการทำธุรกรรม และขยายฐานนักลงทุน และมุ่งสนับสนุนให้สมาชิกที่มีความตั้งใจในการประกอบธูรกิจ โดย TFEX จะพยายามผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนโยบายที่สอดคล้องกันในเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน

***ผ่อนคลายเกณฑ์หนุนอนุพันธ์
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.จะยึดหลักในการกำกับดูแลตลาดอนุพันธ์เหมือนเดิม ซึ่งอยู่ในกรอบเดียวกันของตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก แต่อาจจะมีความยืดหยุ่นบ้างเพื่อตอบสนองในการใช้อนุพันธ์ในการเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ก.ล.ต.ได้มีการออกแบบสำรวจความคิดเห็น (เฮียริ่ง)ในเรื่องเกณฑ์ต่างๆไปแล้ว 22 ฉบับ ซึ่งสูงกว่าทั้งปีที่ผ่านมาที่มีการเฮียร์ริ่ง 21 ฉบับ

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดอนุพันธ์ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้กับนักลงทุนในการบริหารความสี่ยง ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยที่ระดับ 8621 สัญญาต่อวัน โดยในปีที่ผ่านมาตลาด TFEX มีปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นถึง 66% ในทางกลับกันปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นกลับปรับตัวลดลง 6%

ปัจจุบันตลาด TFEX มีบริษัทสมาชิกจำนวน 40 ราย และมีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนกว่า 20,000 บัญชี จึงเป็นตัวแสดงที่เห็นได้ชัดว่าตลาดนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ฉะนั้นทางตลาดหลักทรัพย์ญ จึงมีความมุ่งมั่นในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของนักลงทุน โดยการเติบโตของตลาดTFEX ที่ผ่านมาเป็นผลจากความสำเร็จของสินค้าหลักคือ SET50 Futures

***เปิดตัวหุ้นอ้างอิงอีก 10 ตัวม.ย.นี้
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายน 52 ทางตลาดอนุพันธ์เตรียมเปิดตัวหุ้นในฟิวเจอร์ที่อ้างอิงหุ้นสามัญรายตัว (single stock future) อีกจำนวน 10 ตัว โดยครอบคลุมกลุ่มธนาคารพาณิชย์และอื่นๆ จากเดิมที่ในส่วนดังกล่าวมีหลักทรัพย์อยู่แล้ว 3 ตัว คือ ADVANC, PTT, PTTEP

ขณะเดียวกันภายหลังจากที่ TFEX ได้มีการออกสินค้าประเภท สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (gold future) ไปแล้วก่อนหน้านี้ก็เตรียมที่จะออกสินค้าใหม่ชนิดใหม่ เช่น อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน และอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาน้ำมัน ส่วนจะเป็นสินค้าตัวใดนั้นคงต้องนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์ในช่วงที่ผ่านมายังถือว่าเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 5 ปี คือต้องขยายสินค้าให้มีความหลากหลายและครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ หลักทรัพย์, อัตราแลกเปลี่ยน, อัตราดอกเบี้ย, ตราสารหนี้ โภคภัณฑ์

นอกจากนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและรอการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องการออก Derivative Warrant หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ให้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในแก่นักลงทุนของบริษัทจดทะเบียนโดยไม่ผ่านบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์นั้น แต่เป็นการซื้อขายผ่านธุรกิจหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) แทน ซึ่งในสินค้าดังกล่าวจะนำไปไว้ในตลาดหุ้นไทย และคาดว่าจะได้ความชัดเจนไตรมาส 3 ปีนี้

ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ต่างรอคอย Derivative Warrant ดังกล่าว และประเมินว่าหากเมื่อใดที่มีการออกมาก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ผลงานของตลาดอนุพันธ์ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจ และในฐานะที่เป็นโบรกเกอร์นั้นการเพิ่มสินค้าให้หลากหลาย อาทิ gold future single, stock future , SET50 INDEX, SET INDEX OPTION นั้นยังคงเป็นสิ่งที่ดี และมีส่วนช่วยแรงผลักดันให้ TFEX เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่ผ่านมาคือ ในปี 49 มูลค่าการซื้อขายของSET อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท/วัน เทียบกับ TFEX ที่มีวอลุ่มประมาณ 593 สัญญา/วัน หรือคิดเป็น 3.6% ของมูลค่าการซื้อขายเมื่อเทียบกับวอลุ่มของตลาดหุ้น โดยในปี 50 มีอัตราส่วนคิดเป็น 16.87% และปี 51 มีสัดส่วน 24% จนถึงปี 52 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 28%

ด้านนายทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท สำนักงาน เอินส์ท แอนด์ ยัง จำกัด กล่าวว่า ตลาดอนุพันธ์ของไทยนั้นถือว่ามีความสมบูรณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นตลาดฯที่นักลงทุนใช้ในการรองรับความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น