xs
xsm
sm
md
lg

ครม.แจงปรับกรอบงบ ปี 53 เน้นความเป็นจริง โครงการต้องมีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติปรับลดกรอบงบรายจ่ายปี 53 เหลือแค่ 1.7 ล้าน ลบ. ส่วนรายได้ 1.35 ล้าน ลบ.โดยจะขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสน ล.ถือเป็นการปรับโครงสร้างงบประมาณให้เป็นจริงมากขึ้น โดยโครงการลงทุนใหม่ๆ จะดำเนินการ ภายใต้ประสิทธิภาพที่มีอยู่ แต่หากจะดำเนินการจะใช้เป็นเงินกู้ ไม่ใช่เงินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ มีความระมัดระวังในการใช้เงิน และต้องตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

นางดวงสมร วรฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2553 โดยปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายลงจากเดิม 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลดลงมาที่ 1.35 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.51 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขาดุลงบประมาณ 350,000 ล้านบาท

การปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ส่วนใหญ่เป็นการตัดลดงบในส่วนที่กระจายสู่ท้องถิ่น งบทหาร และการเดินทาง ศึกษาดูงานต่างประเทศ

ด้าน นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การปรับกรอบงบประมาณปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2552 จะลดลงจากที่คาดไว้ และจะส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ในอนาคตมีแนวโน้มลดลงตาม

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2552 จะติดลบประมาณ 2.5-3.0% ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2553 อยู่ภายใต้คาดการณ์จีดีพีขยายตัว 2-3% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0-1%

สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้าน ลดลงจากปีงบประมาณ 2552 จำนวน 251,700 ล้านบาท คิดเป็น 12.9% แยกเป็นวงเงินรายจ่ายประจำ 1.33 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 52 คิดเป็น 5.7% รายจ่ายลงทุน จำนวน 3.07 แสนล้านบาท ลดลง 28.6% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 63,000 ล้านบาท ลดลง 1.4% โดยคาดว่า จะไม่มีการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินคงคลัง

ส่วนวงเงินงบประมาณที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีจำนวน 148,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมประมาณการรายได้ของ อปท.อีก 201,000 แสนล้านบาท ทำให้ อปท. มีรายได้ทั้งสิ้น 349,000 แสนล้านบาท

อนึ่ง วงเงินงบประมาณขาดดุล 350,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 13.5% ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ไม่เกิน 50% ของจีดีพี

“การปรับลดงบประมาณรายจ่ายครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างงบประมาณให้เป็นจริงมากขึ้น โดยโครงการลงทุนใหม่ๆ จะดำเนินการภายใต้ประสิทธิภาพที่มีอยู่ แต่หากจะดำเนินการจะใช้เป็นเงินกู้ ไม่ใช่เงินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ มีความระมัดระวังและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การกู้เงินจะต้องคำนึงถึงการนำไปใช้เพื่อแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วย” ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น