ครม.ไฟเขียวแผนกู้เงิน 9.4 หมื่นล้านบาท เรียบร้อยแล้ว เพื่อชดเชยตัวเลขขาดดุลงบประมาณ "คลัง" เร่งทยอยออกพันธบัตรตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยอมรับเงินยังไม่พอ ต้องก่อหนี้เพิ่มอีก บ่นอุบ "ม็อบหางแดง" ทุบเศรษฐกิจพังยับเยิน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 โดยระบุว่า ครม.ได้อนุมัติให้มีการกู้เงินเพิ่มเติม 9.4 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2552 และชดเชยรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ โดยเป็นการกู้เงินตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ที่กำหนดให้กู้ได้ 20%ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งทำให้วงเงินกู้ชดเชยขาดดุลในปี 2552 เต็มเพดานที่ 4.4 แสนล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ สบน.ได้เตรียมแผนการระดมเงินกู้ดังกล่าว โดยแบ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 2 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นการการออกพันธบัตรรัฐบาลที่คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ซึ่งรูปแบบการออกและอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง จะต้องมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก่อน
นอกจากนี้ จะแบ่งเป็นการออกตั๋วเงินคลังเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน กับ 6 เดือน การออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยกู้จากสถาบันการเงินโดยตรงอีก 2 หมื่นล้านบาท และการออกพันธบัตรออมทรัพย์ อีก 1 หมื่นล้านบาท ระยะ 3 ปี และ 5 ปี ตามนโยบายของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนในการพัฒนาประเทศ มีการออมที่หลายหลาย และให้อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งส่วนนี้จะออกได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน
"วงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอีก 9.4หมื่นล้านบาทนี้ คลังจะทยอยออกพันธบัตรเข้าตลาดตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการใช้จ่ายตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่ายังไม่เพียงพอชดเชยรายได้ที่คาดว่าจะขาดหายไปในปีงบประมาณ 2552 อีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งคลังกู้เต็มวงเงินแล้ว" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2552 จะมีตราสารหนี้ของรัฐบาลเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากตามแผนประมาณ 5.2 แสนล้านบาท เป็นทั้งการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาล และการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของตราสารที่ครบอายุ เมื่อรวมกับการกู้เพิ่มอีก 9.4 หมื่นล้าน จะทำให้ตราสารหนี้ของรัฐบาลเข้าสู่ตลาดในปีนี้เพิ่มเป็นกว่า 6.2 แสนล้านบาท แต่ก็เชื่อว่า ตลาดยังรับได้ ซึ่งได้รับการยืนยันจาก ธปท.แล้วว่า ตลาดยังมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการออกตราสารหนี้ดังกล่าว
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สบน.ประเมินว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในปี 2552 เมื่อรวมวงเงินกู้เพิ่มอีก 9.4 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มเป็น 44% จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ 43% โดยคิดจากสมมุติฐานที่จีดีพีขยายตัว 0% ซึ่งถ้า จีดีพี ขยายตัวติดลบ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก
นายปณิธาน วัตนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะมีการพิจารณาขยายเพดานเงินกู้ ชดเชยงบขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก คาดว่าคงจะเป็นหลังจากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุก เฉินฯแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น
"รัฐบาลจะต้องใช้เวลาในการประเมินภาพรวมความเสียหาย ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนและภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง ซึ่งจะเห็นตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงได้หลังการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว แต่มีแนวโน้มสูงมากที่จำเป็นจะต้องปรับเพิ่มเพดานเงินกู้"โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว